ข้อมูลจาก : น.ส.วราภรณ์ ศิริธรรมานุกุล : พยาบาลวิชาชีพ
ภาพจาก : pixabay.com
เนื่องด้วยปัจจุบันคนไทยเริ่มมีพฤติกรรมการใช้ชีวิต และบริโภคอาหารแบบชาติตะวันตกมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันเราพบมะเร็งลำไส้มากขึ้น นอกจากนี้ยังพบอัตราการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเพศชายรองจากมะเร็งตับและมะเร็งปอด “มะเร็งลำไส้ใหญ่” (Colon Cancer) หมายถึง มะเร็งที่เกิดขึ้นในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของลำไส้ใหญ่ นับตั้งแต่ช่วงที่ต่อจากลำไส้เล็กจนถึงทวารหนัก
ปัจจัยความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
ปัจจัยที่อาจมีความสัมพันธ์หรือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่
1. พันธุกรรม หมายถึง หากคนๆ นั้นมีญาติใกล้ชิดเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือผู้ที่มีความเจ็บป่วยเรื้อรังของลำไส้บางอย่าง จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงกว่าคนทั่วไป
2. อายุ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่พบได้มากหลังอายุ 50 ปี แต่โอกาสเกิดโรคจะมีการเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ หลังอายุ 40 ปี เป็นต้นไป โดยยิ่งอายุมากขึ้นอุบัติการณ์ก็จะสูงขึ้นด้วย
3. เพศและเชื้อชาติ พบว่าผู้หญิงอเมริกันมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าผู้ชาย คนผิวดำจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนผิวขาว แต่คนผิวดำในทวีปอัฟริกากลับมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ต่ำมาก ดังนั้นความเสี่ยงของเชื้อชาติขึ้นกับว่าอยู่ในประเทศอุตสาหกรรมหรือไม่
4. อาหาร บางการศึกษาพบว่า การรับประทานอาหารประเภทปิ้งย่างไหม้เกรียม เพราะเมื่อถูกความร้อนโปรตีนจากเนื้อสัตว์หรืออาหารทะเลจะทำให้เกิดสารก่อมะเร็งที่เราเรียกว่า "เฮทเทอโรไซคลิก เอมีน" (heterocyclic amines; HCAs) และสาร "โพลีไซคลิก อะโรเมติก ไฮโดรคาร์บอน" (polycyclic aromatic hydrocarbons; PAHs) ที่สามารถทำลายสารพันธุกรรมดีเอ็นเอที่อยู่ในเซลล์ร่างกายและเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดมะเร็งในที่สุด นอกจากนี้บางการศึกษาพบว่าการรับประทานอาหารไขมันสูงหรืออาหารที่ขาดใยอาหารทำให้มีปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่า
5. การขาดสารอาหารบางชนิด บางการศึกษาพบว่า อาจเป็นปัจจัยให้เกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่ได้สูงกว่าผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วน
6. อาการท้องผูก พบว่ามีความสัมพันธ์กับมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะในผู้หญิงผิวดำที่อาการท้องผูกด้วยแล้วจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
7. การดื่มสุรา หรือเบียร์อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
8. การสูบบุหรี่ มีการศึกษาในระยะหลัง ๆ พบว่าการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราการตายสูงขึ้นด้วย
อาการและอาการแสดงของมะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่ มักจะไม่มีอาการให้เห็นในระยะแรก จนกว่าเนื้องอกจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ และอาการที่พบอาจแตกต่างกันไป ขึ้นกับตำแหน่งที่เป็น อย่างไรก็ตามสามารถสังเกตอาการเริ่มต้นได้ ดังนี้
1. การถ่ายอุจจาระที่ผิดปกติ เช่น มีอาการท้องผูกสลับท้องเสียผิดไปจากปกติ หรือสีดำคล้ายสีถ่าน
2. ท้องผูกเรื้อรัง หรือมีท้องเสียถ่ายเป็นน้ำเรื้อรังเป็นเดือน
3. ถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด แบบเป็นบิดเรื้อรังเป็นเดือน หรืออาจถ่ายเป็นเลือดสดๆ แบบริดสีดวงทวาร
4. เบื่ออาหาร
5. น้ำหนักลด
6. ปวดท้อง ท้องอืด หรือผายลมลดลง
7. อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หรือซีดโดยไม่รู้สาเหตุ
8. อาจคลำก้อนได้ในท้อง
การป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่
เราสามารถป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ด้วยวิธีอย่างง่ายๆ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ดังนี้
1. รับประทานผักสด ผลไม้ ตลอดจนอาหารที่มีกากหรือเส้นใยสูง (high fiber) เพิ่มขึ้นองประกอบด้วย ข้าวซ้อมมือ ถั่วต่างๆ เป็นต้น เพื่อลดและ/หรือป้องกันอาการท้องผูก โดยจะทำให้ไม่เกิดของเสียการคั่งค้างในลำไส้ใหญ่ ตลอดจนรับประทานวิตามินที่เป็น สารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ด้วย เช่น เบต้าคาโรทีน วิตามิน A, C, D, E และ แคลเซียม เป็นต้น
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหว เช่น เดินเร็วๆ วิ่งเหยาะๆ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เลือกตามความเหมาะสม อย่างน้อยควรทำวันเว้นวัน ครั้งละประมาณ 30 นาที
3. ลด ละ และเลิกการดื่ม ชา กาแฟ หรือแอลกอฮอล์
4. ลด ละ และเลิกการสูบบุหรี่