เตรียมพร้อมรับมือ : โรคลมชักในเด็ก | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

เตรียมพร้อมรับมือ : โรคลมชักในเด็ก

Date : 13 September 2017

ข้อมูลจาก : ผศ.นพ.สรวิศ วีรวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
ภาพจาก : pixabay.com

อาการชัก อาจสร้างความตระหนักให้กับผู้ที่พบเห็น โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นกับเด็ก จะมีวิธีเตรียมพร้อมรับมือกับอาการชักอย่างไร ติดตามครับ
อาการชักเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทในสมอง ซึ่งมักจะมีผลทำให้ร่างกายเกร็ง กระตุก และอาจทำให้ไม่รู้สึกตัวได้ ส่วนโรคลมชักเป็นอาการชักที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป โดยไม่มีสาเหตุ หรือปัจจัยภายนอกมากระตุ้น

โดยทั่วไปอาการชักอาจเห็นได้จากการที่ร่างกายแข็งเกร็ง กระตุก ตาค้าง ส่วนอาการชักชนิดอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ อาการชักแบบเหม่อลอยเป็นพักๆ การกระพริบตา หรือทำปากขมุบขมิบ บางคนอาจเป็นหลายครั้ง ใน 1 วัน ซึ่งคนรอบข้างต้องหมั่นสังเกต และควรพามาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและหาสาเหตุของอาการดังกล่าว
 
เมื่อเด็กมีอาการชัก ผู้ปกครองควรพาไปพบแพทย์ เพราะถ้าอาการชักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ย่อมมีผลกระทบต่อสมอง และอาการชักอาจรุนแรงขึ้นจนควบคุมไม่ได้ ส่งผลต่อพัฒนาการ กลายเป็นเด็กที่เรียนรู้ได้ช้า มีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือสมาธิสั้นได้ สำหรับอาการชักที่เป็นอันตราย ส่วนใหญ่จะมีอาการนานเกิน 30 นาที หรือมีการสำลักขณะที่ชัก ซึ่งจะทำให้เด็กหยุดหายใจ และสมองขาดออกซิเจนได้
 
สำหรับการวินิจฉัยในเด็กที่คาดว่าจะเป็นโรคลมชัก แพทย์จะซักถามประวัติการตั้งครรภ์ของมารดา การคลอด พัฒนาการ ลักษณะอาการชัก และประวัติการเจ็บป่วยในอดีต  ร่วมกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง  และการตรวจภาพถ่ายสมองด้วยเครื่อง MRI เพื่อให้ทราบสาเหตุ และกำหนดแนวทางการรักษาต่อไป ส่วนการรักษาเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชัก แพทย์จะให้ยาเพื่อป้องกันอาการชัก และเมื่อเริ่มรับประทานยาแล้ว ต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอ และมาพบแพทย์ตามนัด เพื่อตรวจติดตามว่าสามารถควบคุมอาการชักได้ หรือมีผลข้างเคียงของยาหรือไม่ อย่างไรก็ดี โรคลมชักในเด็กบางชนิด อาจไม่ต้องให้การรักษา เพราะเมื่อเด็กเข้าสู่วัยรุ่น อาการอาจจะหายไปเองได้
 
อย่างไรก็ตาม การป้องกัน หรือหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจเสริมให้มีอาการชักได้ เช่น การอดนอน มีไข้สูง เป็นสิ่งจำเป็นที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญ นอกเหนือจากการรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง แม้ดูแลกันดีแล้ว แต่ถ้าเด็กเกิดอาการชัก  สิ่งแรกที่ควรทำคือ ตั้งสติให้ดี อย่าตกใจ นำตัวเด็กไปยังที่โล่งมีอากาศถ่ายเทสะดวก ห่างไกลของมีคม หรือมุมโต๊ะที่อาจทำให้บาดเจ็บ ให้นอนราบกับพื้น ตะแคงศีรษะไปด้านข้างเพื่อป้องกันการสำลัก ห้ามง้างปากหรือนำสิ่งของใส่ในปากขณะที่มีอาการชักเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ฟันหักและตกไปอุดหลอดลม ทำให้ขาดอากาศตามมาได้ และเมื่อหยุดชัก ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย หาสาเหตุ และให้การรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป