ข้อมูลจาก : หน่วยตรวจโรคผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ภาพจาก : pixabay.com
มะเร็งผิวหนังเป็นมะเร็งที่สามารถพบได้เร็วกว่ามะเร็งชนิดอื่นเนื่องจากเห็นได้จากภายนอก สามารถรักษาให้หายขาดได้ ธรรมชาติของมะเร็งผิวหนังจะขยายตัวค่อนข้างช้าอาจนานถึง 5-6 ปี แต่ถ้าไม่รักษาจะมีผลต่ออวัยวะใกล้เคียงไปจนถึงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้
มะเร็งผิวหนังจะมีลักษณะอย่างไร
- ผื่นแอคตินิค เคราโตซิล (Actinic Keratisis = AKS) เป็นการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติ โดยมีลักษณะเป็นผื่นขุยๆ มักพบบริเวณหน้า แขน ลำตัว หลังมือ หรือบริเวณที่ได้รับแสงแดดมาก ถ้าไม่รักษาจะกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้
- มะเร็งบาซอล เซลล์ คาร์ซิโนมา (Basal Cell Carcinoma = BCC) เป็นมะเร็งผิวหนังที่ร้ายแรงน้อย เพราะเกิดบริเวณชั้นตื้นๆ มักเกิดการทำลาย เพราะบริเวณตำแหน่งที่เป็น ถ้าเป็นบริเวณใกล้เคียงอวัยวะที่สำคัญ เช่น ตา จมูก ปาก หู อาจทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะนั้นได้ มะเร็งชนิดนี้มักพบบริเวณ หู จมูก ใบหน้า หน้าอก หลัง ลักษณะที่พบมีหลายแบบ
2.1 เป็นก้อนเนื้อนูนสีเดียวกับผิวหนัง หรือ ชมพูใส มีขอบ อาจมีเลือดออกบ่อยๆ
2.2 ลักษณะคล้ายสิว เป็นๆ หายๆ มักมีเลือดออก
2.3 ลักษณะเป็นก้อนแบนแข็งติดกับผิวหนัง
2.4 ลักษณะเป็นก้อนขุย มีสะเก็ดดำเลือดออก
อาการที่สำคัญ คือ มีการระคายเคืองบริเวณก้อนเนื้อ แผลเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ มีเลือดออก
- มะเร็งสะแควมัส เซลล์ คาร์ซิโนมา (Squamous Cell Carcinoma = SCC) ลักษณะคล้ายกับมะเร็งบาซอล เซลล์ คาร์ซิโนมา การลุกลามมักเร็วกว่ามะเร็งชนิด บาซอลเซลล์ คาร์ชิโนมา มักจะลุกลามลงลึกสู่ด้านล่างของเซลล์ผิวหนัง ถ้าคลำดูผิวหนังด้านล่างมักจะพบว่าเป็นก้อนแข็งๆ
- มะเร็งแมลิกแนนท์ เมลาโนมา (Malignant Melanoma) ลักษณะคล้ายไฝดำ แต่จะกระจายอย่างรวดเร็วสู่อวัยวะภายใจสามารถทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็วจัดเป็นมะเร็งชนิดร้ายแรงที่สุด มะเร็งบาซอล เซลล์ คาร์ซิโนมา และมะเร็งชนิดสะแควมัส เซลล์ คาร์ซิโนมา พบได้ตั้งแต่ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มักพบบ่อยในผู้ที่มีอายุ 60 - 80 ปี
สาเหตุการเกิด
- แสงแดดซึ่งมีรังสีอัลตราไวโอเลต ในช่วงเวลา 10.00 - 15.00 น.
- การระคายเคืองของสารเคมี เช่น การได้รับสารหนู ยาแผนโบราณ แหล่งน้ำ อาหาร
- การเป็นแผลเรื้อรังจะมีการเปลี่ยนแปลง มีการทำลายยีนที่ควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังตามปกติ
- พันธุกรรม
เราจะป้องกันได้อย่างไร
- หลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลา 10.00 - 15.00 น.
- ใช้ครีมกันแดด ที่มีค่า SPF > 15
- หลีกเลี่ยงภาวะที่เสี่ยงต่อการระคายเคืองของผิวหนัง เช่น การสัมผัสสารเคมีบ่อยๆ หรือ การใช้วัตถุขัดถูผิวหนังอย่างแรงๆ บางชนิด
ท่านทราบไหม ไฝบางชนิดอาจกลายเป็นมะเร็งผิวหนัง เราจะสังเกตได้อย่างไร
- ไฝที่มีลักษณะขอบไม่เรียบ
- สีไฝไม่สม่ำเสมอ
- ขนาดโตมากกว่า 6 มม.
- เมื่อแบ่งเส้นผ่าศูนย์กลางแล้ว ลักษณะของไฝสองข้างจะไม่เหมือนกัน
มีวิธีการรักษาอย่างไร
- ถ้าเป็นผื่นแอคตินิค เคราโตซิส สามารถใช้การจี้ด้วยความเย็นในการรักษาก็เพียงพอ
- ถ้าลุกลามเป็นมะเร็งบาซอล เซลล์ คาร์ซิโนมา ใช้วิธีการจี้ไฟฟ้า ร่วมกับการขูดผิวหนังหรือการตัดออกและการผ่าตัดพิเศษที่เรียกว่า Moh's Surgery ซึ่งวิธีการใดขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย สภาพร่างกายของผู้ป่วย และลักษณะของเนื้อที่ผิดปกติ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัย
- ถ้าเป็นมะเร็ง สะแควมัส เซลล์ คาร์ซิโนมา ต้องใช้วิธีการ ผ่าตัด Moh's Surgery
หากเกิดแผลเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ มีเลือดออก มีการเปลี่ยนแปลงของไฝ ปาน ควรรีบมารับการตรวจจากแพทย์ผิวหนังโดยเร็ว