มะเร็งช่องปาก | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

มะเร็งช่องปาก

Date : 26 September 2017

ข้อมูลจาก : หน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ภาพจาก : pixabay.com

ช่องปากประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ ดังนี้ คือ ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เหงือก ลิ้น และเนื้อเยื่อโดยรอบๆ ลิ้นทั้งด้านข้างสองข้างและ ด้านหน้าใต้ลิ้น มะเร็งของอวัยวะต่างๆ เหล่านี้ จะมีสาเหตุอาการ อาการแสดง การดำเนินโรค วิธีวินิจฉัย ระยะโรค การรักษาความรุนแรงของโรคเหมือนกัน มะเร็งช่องปากเป็นมะเร็งที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยกลางคนขึ้นไป อายุเฉลี่ยจะประมาณ 60 ปี แต่ก็พบในคนอายุ 40 ปี หรืออายุต่ำกว่าได้ประปราย

สาเหตุของมะเร็งช่องปาก

  1. สูบบุหรี่จัด สูบกล้อง
  2. บริโภคเมี่ยง หมาก ยาฉุน ยาเส้นเป็นประจำ
  3. ดื่มสุราจัด
  4. อาจมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสชนิด เฮทพีวี (HPV)
  5. มีความสัมพันธ์กับการอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อของเยื่อบุช่องปาก ซึ่งจะทำให้เยื่อบุช่องปากมีลักษณะเป็นฝ้าขาว หรือเป็นปื้นสีแดง

อาการและอาการแสดง

อาการที่พบได้บ่อยคือ เกิดเป็นก้อนเนื้อขึ้นตามตำแหน่งต่างๆ ของอวัยวะส่วนนั้น อาจลุกลามเป็นแผลหรือไม่ก็ได้ แผลอาจมีลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ หรืออาจเป็นแผลลึกเรื้อรัง แผลจะโตขึ้นเรื่อยๆ ไม่หายด้วยการใส่ยาต่างๆ หรือการรักษาวิธีทั่วๆไป อาจมีเลือดออกได้ง่ายและถ้ามีการติดเชื้อด้วยก็จะมีกลิ่นเหม็น   นอกจากนั้นถ้าเป็นโรคในระยะลุกลามจะคลำต่อมน้ำเหลืองที่คอได้ร่วมด้วย เป็นต่อมน้ำเหลืองที่โตโดยไม่เจ็บและมักอยู่ด้านเดียวกันกับก้อนเนื้อ

การตรวจและระยะของโรค เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ แพทย์จะให้การตรวจดังนี้

  1. ซักประวัติและตรวจร่างกาย โดยเฉพาะของช่องปาก
  2. ตัดชิ้นเนื้อเพื่อไปพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา เมื่อวินิจฉัยได้แล้วว่าเป็นมะเร็ง แพทย์จะตรวจเพิ่มเติมดังนี้
  • ตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการดูการทำงานของไขกระดูก ตับ ไต และเบาหวาน
  • ตรวจปัสสาวะเพื่อดูโรคร่วมอื่นๆ ของโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ
  1. เอกซเรย์ปอดเพื่อดูการแพร่กระจายของโรคที่ปอด
  2. อาจมีการตรวจเพิ่มเติมตามข้อบ่งชี้ เช่น การตรวจอัลตราซาวด์ตับ เพื่อดูการกระจายของโรคตับ หรือการตรวจเพิ่มเติมทางเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจเพิ่มเติมเหล่านี้ แพทย์จะทำตามข้อบ่งชี้ ไม่เหมือนกันในผู้ป่วยแต่ละราย

ระยะโรค มะเร็งช่องปากแบ่งเป็น 4 ระยะ คือระยะที่ 1        มะเร็งมีขนาดก้อนเล็ก ยังไม่ลุกลาม

ระยะที่ 2   มะเร็งลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียง

ระยะที่ 3   ก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้นและลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียง มากขึ้น และมีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองที่คอ

ระยะที่ 4   มะเร็งลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียงมากขึ้น ลุกลามเข้าต่อม น้ำเหลืองมากขึ้น ปากอ้าไม่ได้ ต่อมน้ำเหลืองที่คอมีขนาด โตมาก หรืออาจมีโรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ หรือกระดูก เป็นต้น

ความรุนแรงของโรค ความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัยที่สำคัญได้แก่

  1. ระยะของโรค ระยะสูงขึ้นความรุนแรงของโรคก็สูงขึ้น
  2. สุขภาพทั่วๆ ไป ถ้าแข็งแรงการรักษาจะได้ผลดีกว่า
  3. โรคร่วมต่างๆ เช่น เบาหวาน โรคไต เป็นต้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการรักษา
  4. อายุ ในผู้ป่วยสูงอายุมักทนการรักษาต่างๆ ได้ไม่ค่อยดี

วิธีการรักษา มะเร็งช่องปากมีวิธีการรักษาหลัก 3 วิธีคือ การผ่าตัด รังสีรักษา และเคมีบำบัด

การผ่าตัด มักใช้รักษาโรคระยะที่ 1 ระยะที่ 2 หรือเริ่มๆ ระยะที่ 3 ที่ต่อมน้ำเหลืองยังมีขนาดเล็ก หลังการผ่าตัดแพทย์จะตรวจเนื้อที่ผ่าตัดออกไปทางพยาธิ ถ้ามีข้อบ่งชี้ก็จะให้การรักษาต่อเนื่องด้วยรังสีรักษาและอาจร่วมกับเคมีบำบัดด้วย

รังสีรักษา อาจเป็นวิธีการรักษาโดยใช้รังสีอย่างเดียว หรือรังสีร่วมกับการผ่าตัดหรือรังสีร่วมเคมีบำบัด หรือรังสี ผ่าตัดและเคมีบำบัด ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้เป็นรายๆ แตกต่างกันไป ถ้ามีการฉายรังสีมักใช้ระยะเวลาประมาณ 6-7 สัปดาห์ ฉายรังสีวันละ1 ครั้ง ติดต่อกัน 5 วันตามวันทำการ อาจมีการรักษาทางรังสีโดยการใส่แร่ ซึ่งจะมีข้อบ่งชี้เฉพาะเจาะจงรักษาได้เฉพาะผู้ป่วยบางรายเท่านั้น ซึ่งแพทย์จะประเมินจากข้อบ่งชี้เช่นกัน

เคมีบำบัด เป็นการรักษาที่มักใช้ร่วมกับการผ่าตัดและรังสี แต่ในผู้ป่วยบางรายที่ผ่าตัดและทำรังสีรักษาไม่ได้ ก็อาจใช้เคมีบำบัดเพียงวิธีการอย่างเดียวซึ่งมักเป็นกรณีการรักษาเพื่อประคับประคองและเช่นเดียวกับวิธีการรักษาอื่นๆ การใช้เคมีบำบัดก็ต้องมีข้อบ่งชี้แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายไม่เหมือนกัน

การตรวจรักษาเพื่อติดตามผลการรักษา ภายหลังรักษาครบแล้ว แพทย์จะยังนัดตรวจรักษาผู้ป่วยต่อเนื่องเป็นระยะๆ ไป โดยในปีแรกหลังครบการรักษาแพทย์มักจะนัดทุก 1-2 เดือน ในปีที่ 2-3 อาจนัดทุก 2-3 เดือน ปีที่ 3-ปีที่ 5 อาจนัดทุก 3-6 เดือน และภายหลัง 5 ปีไปแล้ว มักนัดทุก 6-12 เดือน ในการมาพบแพทย์ทุกครั้งแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกายและอาจมีการตรวจอื่นๆ ตามข้อบ่งชี้แตกต่างในผู้ป่วยแต่ละรายไม่เหมือนกัน ผู้ป่วยควรพบแพทย์พร้อมญาติสายตรงหรือผู้ดูแลผู้ป่วย เพื่อร่วมกันพูดคุยปรึกษากับแพทย์ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม