RSV ไวรัสตัวร้าย คล้ายโรคหวัด | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

RSV ไวรัสตัวร้าย คล้ายโรคหวัด

Date : 10 November 2020

ฤดูกาลที่อากาศมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว ร่างกายต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โรคสำคัญที่มีโอกาสติดเชื้อ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก คือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV ซึ่งมีอาการอาจเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่อันตรายอาจถึงแก่ชีวิตได้
 

รู้จักไวรัส RSV

โรค RSV หรือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัส Respiratory Syncytial Virus ที่ทำให้คนที่ติดเชื้อมีอาการคล้ายหวัด สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ โดยไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก หรือสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการจับมือ แพร่กระจายได้ง่ายผ่านการไอหรือจาม ในประเทศไทยพบเชื้อไวรัสอาร์เอสวีได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว


การติดต่อของเชื้อ RSV

การติดต่อของเชื้อ RSV นี้สามารถติดต่อผ่านสารคัดหลั่งต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอ จาม โดยเฉพาะการติดต่อจากการสัมผัส ซึ่งหากเด็กได้รับเชื้อ ระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 5 วัน โดยในช่วง 2 – 4 วันแรกมักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล เมื่อการดำเนินโรคมีมากขึ้นส่งผลให้ทางเดินหายใจส่วนล่างมีการอักเสบตามมา ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ และโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ ในบางรายเกิดอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงครืดคราด มีเสมหะในลำคอมาก ๆ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการที่ต้องพึงระวัง คือ หากมีอาการไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ไอจนอาเจียน หายใจเร็วหอบจนชายโครงหรืออกบุ๋ม หายใจออกลำบากหรือหายใจมีเสียงวี้ด (Wheezing) รับประทานอาหารหรือนมได้น้อย ซึมลง ปากซีดเขียว เพราะผู้ป่วยที่มีอาการหนัก มีโอกาสเสียชีวิตเนื่องจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้สูง

อาการของโรค RSV

อาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อทางเดินหายใจ RSV ที่แสดงหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสประมาณ 4-6 วัน ผู้ติดเชื้อจะมีอาการ ดังนี้

  • มีไข้
     
  • ไอ
     
  • มีน้ำมูก
     
  • เจ็บคอ
     
  • หากอาการรุนแรง จะหายใจเร็ว หอบเหนื่อยเนื่องจากปอดอักเสบ
     
  • รับประทานอาหารได้น้อย
     
  • ซึมลง
     
  • อาการจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น หากผู้ป่วยเป็นเด็กเล็ก หรือคนชรา ที่ภูมิต้านทานต่ำกว่าปกติ

การรักษา RSV

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรง แต่ใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอด และดูดเสมหะออก จะช่วยลดความรุนแรงของอาการไอและอาการหายใจหอบเหนื่อยได้
โรคติดเชื้อไวรัส RSV ใช้เวลาในการฟื้นไข้ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดอาการได้ตั้งแต่ไข้หวัดธรรมดา รวมถึงอาการรุนแรงเป็นปอดบวมซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตลูกน้อยได้ เชื้อไวรัสนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากร่างกายอ่อนแอ

การป้องกัน RSV ทำได้ดังนี้

1. หมั่นล้างมือบ่อยๆ ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่
2. หลีกเลี่ยงการคลุกคลีหรือสัมผัสผู้ป่วย
3. ทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ
4. หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ทารกที่ได้รับควันบุหรี่จะมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อไวรัส RSV
5. รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำมากๆ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ