คงไม่ปฎิเสธว่า ในช่วงตั้งครรภ์คุณพ่อคุณแม่ต่างตื่นเต้นอยากจะเห็นหน้าลูกน้อยในท้องว่าจะเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิง หน้าตาจะเหมือนใคร มีความแข็งแรงหรือไม่ และเจริญเติบโตปกติหรือเปล่า และสิ่งที่ให้คำตอบได้ก็คือ การอัลตร้าซาวด์ท้อง ค่ะ
อัลตร้าซาวด์ คือ
การนำคลื่นเสียงความถี่สูงมาใช้เพื่อตรวจอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย มีการใช้การอัลตร้าซาวด์ ในทางการแพทย์ค่ะ และหนึ่งในนั้นคือการอัลตร้าซาวด์ตรวจทารกในครรภ์
การตรวจทารกในครรภ์ด้วยการอัลตร้าซาวด์ ช่วยให้คุณหมอได้เห็นถึงขนาดและอายุครรภ์ รวมถึงเพศ ปริมาณน้ำคร่ำ ตำแหน่งของรก รวมถึงความผิดปกติของอวัยวะสำคัญใหญ่ๆ ของทารกในครรภ์ด้วย
ในปัจจุบันเทคโนโลยีการอัลตร้าซาวด์มีหลายแบบด้วยกันทีเดียวค่ะ ทั้งแบบสองมิติ สามมิติ และสี่มิติ
แบบ 2 มิติ : เป็นภาพที่มีความกว้างและความยาว หรือภาพตัดขวางตามแนวของคลื่นเสียงที่ถูกส่งออกไปซึ่งจะสามารถมองเห็นได้ทีละระนาบในแต่ละครั้ง ช่วงอายุครรภ์ที่เหมาะสมในการทำคือในช่วงไตรมาสแรก 11 - 14 สัปดาห์ เพื่อตรวจยืนยันว่ามีการตั้งครรภ์อยู่ในมดลูก ไม่ใช่เป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก ดูลักษณะการตั้งครรภ์เป็นครรภ์เดี่ยวหรือครรภ์แฝด ประเมินทารกว่า มีการเต้นของหัวใจเป็นปกติหรือไม่ รวมถึงการคัดกรองความเสี่ยงดาวน์ และประเมินอวัยวะในอุ้งเชิงกรานของมารดาเพื่อค้นหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เนื้องอกในมดลูก, เนื้องอกในรังไข่ขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น ทั้งนี้ แพทย์จะนัดตรวจอัลตร้าซาวด์อีกครั้งในไตรมาสที่ 2 อายุครรภ์ 18 - 22 สัปดาห์ เพื่อตรวจดูความผิดปกติและความสมบูรณ์ของเด็ก
แบบ 3 มิติ : รูปแบบการประมวลผลจะมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยหัวตรวจจะส่งคลื่นเสียงในลักษณะหลายระนาบ พร้อมกัน มีการเก็บข้อมูลติดต่อกัน ข้อมูลที่ได้จะถูกส่งไปประมวลผล และทำการสร้างเป็นภาพ 3 มิติที่เพิ่มความลึกขึ้นมา ทำให้ได้ภาพเสมือนวัตถุจริงมากขึ้น มองเห็นความลึกของภาพในแบบภาพนูนตื้นได้ โดยช่วงอายุครรภ์ที่เหมาะสมในการตรวจคืออายุครรภ์ ไตรมาสที่ 3 หรือ 28 สัปดาห์ขึ้นไป
แบบ 4 มิติ : จะประมวลผลแต่ละภาพ แล้วแสดงผลเรียงต่อกัน ทำให้เกิดภาพเคลื่อนไหว สามารถเห็นการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในขณะตรวจ เช่น การเคลื่อนไหวใบหน้า ยกแขน ขยับนิ้ว ปาก หรือมองเห็นอวัยวะได้ชัดเจนกว่าการอัลตร้าซาวด์ รูปแบบอื่น เช่น ใบหน้า แขน ขา นิ้วมือ และมีจุดเด่นระยะเวลาการตรวจที่สั้น เนื่องจากมองเห็นร่างกายและอวัยวะต่างๆ จากภาพที่เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ และบันทึกภาพการตรวจด้วยระบบ DVD ปัจจุบันการอัลตร้าซาวด์แบบ 4 มิติ สามารถประเมินวิเคราะห์โรคหรือปัญหาได้ว่า ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการเหมาะสมหรือไม่ได้รวดเร็วมากขึ้น และยังมีประโยชน์อย่างมากในการวินิจฉัยความพิการแต่กำเนิดที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะระบบที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลาอีกด้วย เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดบางชนิดที่วินิจฉัยได้ยากจากภาพ 2 มิติ การเคลื่อนไหวของแขนขา/ข้อต่อที่ผิดปกติ เป็นต้น การตรวจอัลตร้าซาวด์แบบ 4 มิติ เหมาะสำหรับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 3 หรือ 28 สัปดาห์ขึ้นไป
อัลตร้าซาวด์บ่อยๆ อันตรายหรือไม่
เรื่องนี้ทางการแพทย์ยืนยันว่า การใช้คลื่นเสียงความถี่สูงจากการอัลตร้าซาวด์นั้น ไม่ส่งผลต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ เพราะไม่มีการใช้รังสี และยังไม่เคยมีการศึกษาอะไรที่แสดงให้เห็นว่า ทารกที่อยู่ในครรภ์ซึ่งได้รับการทำการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเกิดความผิดปกติใดๆ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะเลือกอัลตร้าซาวด์กี่มิตินั้น คุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์อยู่ เพื่อพิจารณาข้อมูลต่างๆ เพื่อเป็นทางเลือกในการอัลตร้าซาวด์ โดยในทางการแพทย์ การวินิจฉัยความผิดปกติหลักของโครงสร้างร่างกายของทารกในครรภ์ ก็ยังจำเป็นที่จะต้องใช้อัลตร้าซาวด์แบบ 2 มิติเป็นหลัก เพราะอัลตร้าซาวด์แบบ 3 และ 4 มิติ ไม่สามารถวินิจฉัยได้ แต่สิ่งที่เหนือกว่าก็คือการทำให้มารดาได้เห็นทารกในครรภ์ได้ชัดเจน เหมือนการถ่ายวิดีโอให้ดูทารกได้ทั้งตัวที่มีรูปร่างเหมือนทารกจริงๆ ไม่ใช่ภาพที่ตัดในแนว 2 มิติดังที่เห็นกันทั่วไป
ขอบคุณข้อมูลจาก: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล