มะเร็งรังไข่ในสตรีที่อายุน้อย | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

มะเร็งรังไข่ในสตรีที่อายุน้อย

Date : 24 November 2015

มะเร็งรังไข่ในสตรีที่อายุน้อยและระยะของโรค
มะเร็งรังไข่ สาเหตุของการเกิดยังไม่ทราบ โดยที่พบบ่อยในสตรีที่อายุน้อยได้แก่ มะเร็งรังไข่ชนิดเกิดจากเซลล์สืบพันธุ์ (germ cell tumor) โดยอายุเฉลี่ยที่พบ 21.6 ปี ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการคลำพบก้อนหรือปวดท้องบริเวณอุ้งเชิงกราน1 การตรวจวินิจฉัยมักใช้การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงร่วมกับการตรวจสารบ่งบอกมะเร็ง (tumor marker) ในกระแสเลือดตามชนิดต่างๆ ของมะเร็ง ซึ่งจะมีประโยชน์ในการติดตามการรักษาและตรวจการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง แต่การตรวจยืนยันการวินิจฉัยจำเป็นต้องได้ชิ้นเนื้อของมะเร็งมาตรวจพิสูจน์ ซึ่งจะได้จากการทำการผ่าตัดที่เป็นทั้งการรักษาและการประเมินระยะของโรคด้วย ระยะของมะเร็งรังไข่แบ่งเป็น 4 ระยะได้แก่ ระยะที่ 1 มะเร็งจำกัดอยู่ที่รังไข่ ระยะที่ 2 มะเร็งมีการลุกลามอยู่ในอุ้งเชิงกราน ระยะที่ 3 มะเร็งมีการลุกลามออกนอกอุ้งเชิงกราน แต่ยังอยู่ในช่องท้อง ระยะที่ 4 มะเร็งมีการลุกลามไปอวัยวะที่อยู่ไกล


การรักษามะเร็งรังไข่ในสตรีที่อายุน้อย
การรักษามะเร็งรังไข่จะใช้การผ่าตัดร่วมกับการให้เคมีบำบัด การผ่าตัดจะใช้ในมะเร็งระยะที่ 1 ในผู้ป่วยที่อายุน้อยมักได้รับการผ่าตัดโดยเก็บรังไข่อีกข้างไว้1 การใช้เคมีบำบัดร่วมด้วยจะใช้ในมะเร็งระยะที่ 2 และระยะที่สูงกว่าหรือในระยะที่ 1 บางรายที่มีความเสี่ยงสูง ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่หากได้รับการวินิจฉัยระหว่างการตั้งครรภ์ ปัญหาจะมีเช่นเดียวกันกับการรักษามะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก ซึ่งอายุครรภ์ขณะที่ได้รับการวินิจฉัยจะมีส่วนสำคัญในการเลือกแนวทางในการรักษา แต่จะมีความแตกต่างคือการวินิจฉัยจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอย่างน้อยคือการตัดรังไข่ออก ซึ่งการจะตัดรังไข่ออกในข้างที่สงสัยมะเร็งรังไข่ หากจะทำผ่าตัดมักเลือกผ่าตัดหลังมารดาตั้งครรภ์อายุมากกว่า 10 สัปดาห์เนื่องจากบทบาทของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจากรังไข่ในการช่วยรักษาการตั้งครรภ์ลดลงและจะมีการสร้างฮอร์โมนนี้เพียงพอได้จากรก


การให้นมแม่ในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่
ในการวินิจฉัยมะเร็งรังไข่ มารดาที่ตรวจพบก้อนเนื้องอกที่รังไข่ในระหว่างตั้งครรภ์ การเลือกที่จะผ่าตัดเข้าไปตรวจพิสูจน์และประเมินระยะของโรค หากทำได้จะเลือกทำผ่าตัดในช่วงไตรมาสสองของการตั้งครรภ์ โดยในมารดาอายุน้อยมีรายงานว่า การผ่าตัดส่วนใหญ่ร้อยละ 80 จะเป็นการผ่าตัดที่จะเหลือรังไข่อีกข้างไว้เพื่อให้มารดาคงโอกาสที่จะมีบุตรได้ในอนาคต1 ในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างเดียวหากหลังผ่าตัดไม่มีภาวะแทรกซ้อน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถทำได้เหมือนผู้ป่วยผ่าตัดคลอด สำหรับมารดาที่จะเป็นต้องรักษาด้วยเคมีบำบัดร่วมด้วย เคมีบำบัดที่มักใช้ในการรักษามะเร็งรังไข่ชนิดเกิดจากเซลล์สืบพันธุ์ ได้แก่ bleomycin, etoposide และ cisplatin ซึ่งการจะให้นมแม่ต้องดูรายละเอียดของการใช้ยาแต่ละชนิด


การใช้เคมีบำบัด Cisplatin กับการให้นมแม่ในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่
 Cisplatin รายละเอียดที่การใช้เขียนไว้ในการใช้เคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก คือ ยา Cisplatin เป็นพิษต่อตัวอ่อนและทำให้เกิดความพิการในสัตว์ทดลอง ยาสามารถผ่านน้ำนมได้ ค่าครึ่งชีวิต (half-life) ของยา 24 ชั่วโมง มีรายงานที่ขัดแย้งกันที่ตรวจไม่พบยาในน้ำนมหลังการให้ยานี้แล้ว 3 วันและมีรายงานที่มีการตรวจพบยาในน้ำนมหลังจากการให้ยาแล้วในวันที่ 3 และวันที่ 51-3 ดังนั้นการให้นมแม่ขณะได้รับยาควรหลีกเลี่ยง หากจำเป็นควรให้นมหลังมารดาให้ยาเคมีบำบัดครบแล้ว 1 สัปดาห์


ที่มา
Neeyalavira V, Suprasert P. Outcomes of malignant ovarian germ-cell tumors treated in Chiang Mai University Hospital over a nine year period. Asian Pac J Cancer Prev 2014; 15:4909-13.
Ben-Baruch G, Menczer J, Goshen R, Kaufman B, Gorodetsky R. Cisplatin excretion in human milk. J Natl Cancer Inst 1992; 84:451-2.
De Vries EG, van der Zee AG, Uges DR, Sleijfer DT. Excretion of platinum into breast milk. Lancet 1989; 1:497.
Egan PC, Costanza ME, Dodion P, Egorin MJ, Bachur NR. Doxorubicin and cisplatin excretion into human milk. Cancer Treat Rep 1985; 69:1387-89.