ข้อเข่าเสื่อม | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

ข้อเข่าเสื่อม

Date : 24 November 2015

ข้อเข่าเสื่อมปฐมภูมิ และ ทุติยภูมิ
โรคข้อเข่าเสื่อม ที่กล่าวถึงกันอยู่เป็นประจำในความหมายของคนทั่วไป หมายถึง ภาวะที่ข้อเกิดความผิดปกติเนื่องจากสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงแบบถดถอย ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับอายุที่มากขึ้น เรียกว่าข้อเข่าเสื่อมชนิดปฐมภูมิ ถ้าหากว่า โรคข้อเข่าเสื่อมมีสาเหตุที่ผิดปกติที่เกิดกับข้อเข่ามาก่อน เช่น การอักเสบของข้อเข่าจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ติดเชื้อ ไขข้ออักเสบ กระดูกหัก เป็นต้น แล้วทำให้ในเวลาต่อมาผิวข้อผิดปกติ และเกิดข้อเสื่อมตามมา ข้อเสื่อมชนิดนี้เรียกว่าข้อเสื่อมทุติยภูมิ พบได้ประปรายในผู้ป่วยทุกอายุ แต่โดยรวมพบได้ไม่บ่อยเท่าข้อเสื่อมชนิดแรก


เมื่อข้อเสื่อมเกิดที่ข้อเข่า
โรคข้อเสื่อมที่เกิดกับข้อเข่าเป็นโรคข้อเข่าที่พบบ่อยที่สุดในผู้สูงอายุ เริ่มพบได้ตั้งแต่อายุ 45 ปี แต่มักพบบ่อยเมื่ออายุมากกว่า 60 ปี เราจะเข้าใจการเกิดโรคนี้จากภาวะสูงอายุได้ง่ายขึ้น เมื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของการเหี่ยวย่นของผิวหนังกับข้อเข่าของผู้สูงอายุ โดยเมื่ออายุน้อย ผิวหนังมีความเต่งตึงเช่นเดียวกับผิวข้อที่มีผิวเรียบ มัน วาว แต่เมื่ออายุมากขึ้น ผิวหนังเหี่ยวย่นขึ้น เช่นเดียวกับการเสื่อมสภาพของผิวข้อ (รวมถึงเยื่อหุ้มข้อ เส้นเอ็นรอบข้อ และกระดูกที่ประกอบเป็นข้อ) เมื่อผู้ป่วยอายุมากขึ้นมักมีน้ำหนักตัวที่มากขึ้นด้วย และเริ่มมีโครงสร้างภายในข้อไม่เป็นปกติ จึงเกิดความเปลี่ยนแปลงความผิดปกติภายในข้อ อันประกอบด้วย
•    ผิวของข้อเข่า ซึ่งเป็นกระดูกอ่อน เริ่มสึกหรอ ทำให้ผิวข้อไม่เรียบ การเคลื่อนไหวข้อ มีอาการติดขัด ฝืด หรือเสียงดังคล้ายกระดาษทรายถูกัน
•    การกระจายการรับน้ำหนักของกระดูกผิวข้อ เริ่มผิดปกติ บางบริเวณมากขึ้น บางบริเวณน้อยลง ทำให้การรับน้ำหนักผิดปกติ มีอาการปวดเสียว
•    เยื่อหุ้มข้อ ถูกระคายเคือง เกิดการอักเสบ และสร้างน้ำในข้อมากขึ้น ทำให้เกิดอาการปวด บวม และข้ออุ่น
•    กล้ามเนื้อรอบข้อเข่า มีความแข็งแรงน้อยลง แรงกระแทกจึงเกิดกับผิวข้อมากขึ้น
•    เอ็นยึดข้อ บางส่วนหย่อนยานขึ้น ทำให้ข้อแกว่ง หรือหลวมมากขึ้น เพิ่มการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติมากขึ้น
•    แนวแกนขา เริ่มผิดปกติ จากน้ำหนักที่มากขึ้น ร่วมกับเอ็นยึดข้อที่หย่อนยานขึ้น ทำให้เข่าดูโก่ง หรือดูขาเก
•    กระดูกรอบข้อเกิดการปรับตัว โดยสร้างกระดูกงอกขึ้นภายในข้อ ทำให้ข้อเคลื่อนไหวได้น้อยลง กระดูกบริเวณข้อเข่า และรอบ ๆ ข้อ บางลง เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่เริ่มเดินน้อยลง


สาเหตุและปัจจัยส่งเสริม ได้แก่
•    เสื่อมตามอายุ
•    น้ำหนักตัวมาก
•    ใช้งานข้อเข่ามากเกินไป
•    กล้ามเนื้อต้นขาไม่แข็งแรง
•    ท่าทางการใช้ข้อเข่าไม่ถูกต้อง เช่น การนั่งพับเพียบ นั่งยอง นั่งคุกเข่า นั่งขัดสมาธิ
•    การบาดเจ็บต่อข้อเข่า
•    ขาดการออกกำลังกาย


การป้องกันและรักษา
     1. ลดน้ำหนักตัวในรายที่อ้วน โดย
•    อย่ากินจุกจิก
•    ลดอาหารไขมัน แป้ง และน้ำตาล
•    รับประทานผัก ผลไม้เพิ่มขึ้น
•    ดื่มน้ำก่อนรับประทานอาหาร ประมาณ 1 - 2 แก้ว
•    ลดอาหารมื้อเย็น
•    งดขนมหวาน และผลไม้ที่มีรสหวาน
•    ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
     2. หลีกเลี่ยง การใช้ข้อเข่าในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น นั่งคุกเข่า, นั่ง ยองๆ, นั่งขัดสมาธิ, นั่งพับเพียบ
     3. หลีกเลี่ยงการใช้ข้อเข่ามากเกินไป เช่น การยืนนาน ๆ, การขึ้นลง บันได, การยกของหนัก
     4. ควรปรึกษาแพทย์ เมื่อมีอาการปวดเข่ามาก เข่าโก่ง หรืองอผิดรูป


การรักษาแบ่งเป็น
•    การรักษาทางกายภาพ เช่น การใช้ความร้อน-เย็นประคบ
•    การใช้เครื่องพยุง เช่น ไม้เท้าพยุงเดิน
•    การผ่าตัดในกรณีที่มีการเสื่อมรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด ซึ่งมี 2 วิธี คือ
- การผ่าตัดกระดูกให้ตรง
- การเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
     5. การบริหารกล้ามเนื้อ ควรบริหารร่างกายเป็นประจำเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และชะลอการเสื่อมของข้อ