โรคคอตีบ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

โรคคอตีบ

Date : 14 December 2015

     โรคคอตีบเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียแบบเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจซึ่งสามารถติดต่อได้ง่ายโดยการสัมผัสกับน้ำลาย เช่น การไอ จาม หรือพูดคุยในระยะประชิด หรือบางครั้งการใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น ช้อนหรือแก้วน้ำ หรือการเล่นร่วมกันในเด็กเล็กจะทำให้เชื้อเข้าสู่ผู้รับได้ทางปากหรือทางการหายใจ ผู้ติดเชื้ออาจไม่มีอาการ หรือมีอาการรุนแรงซึ่งอาจทำให้พิการหรือถึงแก่ชีวิตได้
อาการของโรคนั้นแบ่งเป็น 2 ระยะคือ


- ระยะฟักตัว จะอยู่ที่ประมาณ 2 – 5 วันหรืออาจจะนานกว่านี้ ในบางกรณีผู้ติดเชื้ออาจจะไม่แสดงอาการใดๆ ซึ่งกลุ่มผู้ติดเชื้อซึ่งไม่แสดงอาการเหล่านี้มักจะพบว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญ
- ระยะแสดงอาการ อาการจะเริ่มด้วยมีอาการเจ็บคอ มีไข้ต่ำ มีอาการคล้ายไข้หวัดในระยะแรก มีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร ในเด็กโตอาจจะบ่นเจ็บคอคล้ายอาการคออักเสบ บางรายจะพบอาการต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณลำคอ และจะมีการพบแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาติดแน่นอยู่บริเวณต่อมทอนซิลและลิ้นไก่ ซึ่งแผ่นเยื่อนี้เกิดการเจริญเติบโตของกลุ่มเชื้อแบคทีเรียซึ่งมีการสร้างสารพิษออกมาเป็นผลให้เนื้อเยื่อบริเวณโดยรอบตายลงและซ้อนทับกัน


     อาการแทรกซ้อนที่สามารถพบได้เช่น ไซนัสอักเสบหรือหูชั้นในอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรงสารพิษที่เชื้อแบคทีเรียสร้างออกมายังสามารถทำให้เกิดเส้นประสาทอักเสบหรือหัวใจอักเสบได้ นอกจากนี้อาจเกิดทางเดินหายใจตีบตันซึ่งเกิดจากแผ่นเยื่อลามลงไปในลำคอและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การระบาดในแต่ละครั้งของโรคคอตีบมักจะพบในเด็กที่ยังไม่ได้วัคซีนหรือยังได้วัคซีนไม่ครบ และในกลุ่มคนที่มีประวัติได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วนหรือไม่ได้รับวัคซีนกระตุ้นในเด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ทำให้ไม่มีภูมิคุ้มกันที่จะป้องกันโรคได้ โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้เกิดการระบาดของโรคคอตีบ โดยพบมากที่สุดในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและรองลงมาคือทางภาคใต้ ถึงแม้ว่าอัตราการพบผู้ติดเชื้อจะเหลือเพียงไม่กี่ราย แต่โรคคอตีบเป็นโรคที่รุนแรง โดยในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีและในผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 40 ปี จะมีอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มอื่น


     แนวทางการรักษาโรคคอตีบในปัจจุบัน เมื่อต้องสงสัยว่าเป็นโรคคอตีบ แพทย์จะรับตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลและให้อยู่ในห้องแยกโรคเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย แนวทางการรักษาคือการให้ยาต้านสารพิษของเชื้อและการให้ยาปฏิชีวนะ นอกจากนั้นต้องเฝ้าระวังเรื่องระบบทางเดินหายใจและภาวะแทรกซ้อนในระบบไหลเวียนโลหิตอย่างใกล้ชิด
วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การฉีดวัคซีน (แบบ DTP หรือ dT) ซึ่งถ้าเคยได้รับวัคซีนมาก่อนแล้วนั้น ควรมีการฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี แต่ถ้าไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ให้เริ่มรับการฉีดวัคซีนทันที อาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดได้ในเด็กเล็กจากการฉีดวัคซีนนั้นเช่น การปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งมักจะมีอาการไม่เกินสองวัน ส่วนอาการที่อาจเกิดได้ในเด็กโตและผู้ใหญ่มักไม่รุนแรง ในบางรายอาจมีปฏิกิริยาเฉพาะที่
นอกจากนี้การป้องกันโรคคอตีบด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย การใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับผู้ป่วย วิธีการเหล่านี้ยังช่วยลดการระบาดได้อีกด้วยดังนั้นแล้วนอกจากการรับวัคซีนและการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการติดเชื้อแล้ว หากมีอาการที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคคอตีบให้รีบพบแพทย์ทันทีเพื่อรักษาและลดการแพร่เชื้อสู่ชุมชน
 
หมายเหตุ
   - DTP คือวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน, dT คือ วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก
   - เด็กที่อายุมากกว่า2 เดือนแต่น้อยกว่า 6 ปีสามารถเริ่มฉีดวัคซีนได้ โดยฉีดให้อย่างน้อยอีก 2 ครั้งห่างกัน 2 เดือน และกระตุ้นอีก 1 ครั้ง หลังฉีดครบชุดแล้ว 1 ½ ปี


เอกสารอ้างอิง

  1. Pan American Health Organization. Diphtheria. Control of Diphtheria, Pertussis, Tetanus, Haemophilus influenza type b, and Hepatitis B FIELD GUIDE. 2005.
  2. คณะทํางานด้านการแพทย์กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยคณะแพทยศาสตร์. ร่างแนวทางการวินิจฉัย ดูแลรักษาและการป้องกันการติดเชื้อของโรคคอตีบฉบับวันที่ 27 ตุลาคม 2555.
  3. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในประเทศไทยhttp://pidst.or.th/userfiles/64_%20การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในประเทศไทย.pdf

ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล