ปัจจุบันคาดคะเนกันว่า มีคนไทยประมาณ 5 ล้านคน ที่ติดเชื้อโรคไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะเชื้อจะซ่อนตัวอยู่ในคนและก่อให้เกิดโรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับได้
อาจารย์ นพ.วัชรศักดิ์ โลติยะปุตตะ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีความรู้มาฝากในประเทศไทยพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีค่อนข้างมาก จากสถิติ 100 คน จะมีผู้เป็นพาหะโรคไวรัสตับอักเสบบีอยู่ 5-7 คน ซึ่งผู้ที่เป็นพาหะนั้น ไม่ได้เป็นโรค ไม่มีอาการเจ็บป่วย เพียงแต่มีเชื้ออยู่ในร่างกาย โดยผู้นั้นสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ ทั้งมีอัตราเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งตับมากกว่าคนปกติ 100-200 เท่า และเกือบ 30% จะมีโอกาสพัฒนาเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งตับ
ผู้ที่จะเป็นโรคตับร้ายแรง จะต้องมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในตัวนานกว่า 20-30 ปีขึ้นไป ถ้าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีขณะอายุน้อย ร้อยละ 90 จะมีการพัฒนาเป็นการติดเชื้อเรื้อรัง แต่ถ้าติดเชื้อเมื่อโตขึ้นแล้วหรือในวัยผู้ใหญ่ โอกาสที่กลายเป็นการติดเชื้อเรื้อรังจะมีเพียงร้อยละ 10
ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีจะมีอาการแสดงแตกต่างกัน ถ้าผู้ป่วยมาด้วยอาการตับอักเสบเฉียบพลัน จะรู้สึกอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน จุกแน่นชายโครงขวา ปัสสาวะเข้ม ตาเหลือง ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 90-95 จะหายเป็นปกติด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบบี พบผู้ป่วยเพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้น ที่ไม่สามารถกำจัดไวรัสออกจากร่างกายได้ ส่วน ผู้ป่วยอีกกลุ่มที่มีอาการตับอักเสบเรื้อรัง มักไม่มีอาการใดๆ จะรู้ว่าเป็นโรคนี้จากการตรวจเลือดแล้วพบการทำงานของตับผิดปกติ หรือถ้าผู้ป่วยมีอาการแสดง อาจมีแค่อ่อนเพลียหรือเหนื่อยง่ายเท่านั้น กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการอักเสบเรื้อรังเป็นเวลานาน จะมีการทำลายเซลล์ตับมากๆ จนตับเสื่อมและกลายเป็นตับแข็งในที่สุด โดยมีอาการผอม ผิวแห้ง ผมบางเหมือนขาดสารอาหาร ท้องโตจากการมีน้ำในท้อง ตาตัวเหลือง และในระยะยาวอาจกลายเป็นมะเร็งตับได้
ปัจจุบันยังไม่มียาใดที่ใช้รักษาเพื่อกำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีให้หมดจากร่างกายได้ ยาที่มีรักษาเป็นเพียงแค่ช่วยบรรเทาอาหารเสื่อมของตับเท่านั้น โดยอาจเป็นยาฉีดหรือยากิน สำหรับผู้ที่เป็นไวรัสตับอักเสบบี ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นอันตรายต่อตับและควรได้รับการเจาะเลือดเพื่อตรวจการทำงานของตับเป็นระยะๆ เพื่อหาความผิดปกติในเลือดที่สามารถตรวจพบมะเร็งตับในระยะเริ่มต้นได้ รวมถึงควรหลีกเลี่ยง การใช้ยาที่ไม่จำเป็น เพราะยาเกือบทุกชนิดจะถูกทำลายที่ตับ และทุกครั้งที่พบแพทย์ต้องแจ้งให้ทราบว่าเป็นตับอักเสบ เพื่อกำหนดการใช้ยาในขนาดที่เหมาะสม สำหรับผู้ชายที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจเลือดและตรวจสุขภาพอย่างน้อยทุก 6 เดือน เพราะอาจมีการอักเสบเกิดขึ้นได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โดย น.พ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์