ปัจจุบันนวัตกรรมการรักษาโรค มีส่วนช่วยทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพองลดลงได้ หลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพอง เกิดจากผนังหลอดเลือดอ่อนแอและจะขยายขนาดขึ้นเรื่อย ๆ มักเกิดกับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ชายอายุมากกว่า 65 ปี สูบบุหรี่จัด มีภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะโรคถุงลมโป่งพอง หรือคนในครอบครัวมีประวัติการป่วยด้วยโรคนี้
อาการที่เกิดขึ้นจะสังเกตได้ จากการคลำพบก้อนเต้นในช่องท้อง แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยภาวะนี้ได้จากการตรวจอัลตราซาวนด์ และถ้าก้อนมีการขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนถึง 5 ซม. หรือมากกว่า จนทำให้เกิดการแตกของหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้อง ผู้ป่วยจะเกิดอาการปวดท้องเฉียบพลันอย่างรุนแรงและปวดร้าวมาถึงด้านหลัง และอาจเป็นเหตุให้เสียชีวิต การรักษา แพทย์จะใช้การผ่าตัดช่วย โดยจะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อทราบตำแหน่งและรอยโรคที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนก่อนลงมือ
มีข้อห้ามสำหรับการผ่าตัด หากตรวจพบว่าเป็นโรคหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือหลายครั้งติดต่อกัน ภาวะหัวใจวาย โรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคถุงลมโป่งพองที่รุนแรง และคาดว่าจะไม่สามารถเอาเครื่องช่วยหายใจออกได้หลังผ่าตัด หรือมีภาวะหายใจหอบเหนื่อยขณะพัก รวมถึงผู้เป็นมะเร็งในระยะแพร่กระจาย หรือโรคที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี ซึ่งการผ่าตัดนี้มีทั้งแบบมาตรฐาน คือ ผ่าตัดผ่านทางช่องท้อง ทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งของหลอดเลือด แล้วใส่หลอดเลือดเทียมทดแทน แต่ในช่วง 10 ปีนี้ นิยมใช้การผ่าตัดรักษาแนวใหม่ เรียกว่า “Endovascular Aortic Aneurysm Repair : EVAR โดยการสอดใส่หลอดเลือดเทียมชนิดหุ้มด้วยขดลวด ผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบทั้ง 2 ข้าง เข้าไปจนถึงหลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพองและปล่อยขดลวดให้ถ่างขยายในช่องท้อง ข้อดีคือ บาดแผลเล็ก เจ็บตัวน้อย ฟื้นตัวเร็ว ที่สำคัญ มีความปลอดภัยสูง ลดอัตราการเสียชีวิตและภาวะแทรกซ้อนก็น้อยลง
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดโป่งพองในช่องท้องที่มีก้อนขนาดเล็ก ซึ่งยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าต้องผ่าตัด แต่ก็ควรรับการตรวจอัลตราซาวนด์อย่างต่อเนื่อง ทุกๆ 3 - 6 เดือน
ที่มา ผศ.นพ.คามิน ชินศักดิ์ชัย ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล