จากการสำรวจผู้สูงวัยเกิน 65 ปีขึ้นไปที่ถูกตัดขาพบว่าร้อยละ75 มีสาเหตุหรือเกี่ยวข้องกับเบาหวานเป็นสำคัญ ทั้งนี้เนื่องจากเบาหวานเป็นโรคที่ทำให้เกิดความบกพร่องของระบบประสาทส่วนปลาย ระบบประสาทอัตโนมัติ และระบบหลอดเลือด จึงทำให้เกิดอาการชาบริเวณปลายเท้า เวลาเป็นแผลบ่อยครั้งที่ไม่รู้ตัวกว่าจะรู้แผลก็มีขนาดใหญ่ เกิดแผลติดเชื้อได้ง่ายกลายเป็นแผลเรื้อรัง และรักษาให้หายยาก รวมทั้งอาจเกิดเนื้อตายจากหลอดเลือดส่วนปลายตีบตัน จนอาจนำไปสู่การรักษาด้วยการตัดนิ้วเท้า เท้า หรือขาในที่สุด
แม้การถูกตัดขาจะทำให้เกิดความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจ แต่ถ้าผู้ป่วยไม่ดูแลตนเอง มีแต่ความท้อแท้สิ้นหวัง ไม่ปรับพฤติกรรมการดูแลตนเองเสียใหม่ อาจจะทำให้ต้องสูญเสียแขนขาข้างที่เหลือ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ สำหรับในการดูแลตนเองนอกจากการควบคุมอาหาร การรับประทานยา และไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอแล้ว การออกกำลังกายถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งของการรักษาและฟื้นฟูสภาพ โดยมีเป้าหมายคือ เพื่อเสริมสร้างหรือคงสภาพความแข็งแรงของร่างกาย รวมทั้งเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ และควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างเช่น ควบคุมระดับไขมันในเลือด ระดับความดันโลหิต และน้ำหนักตัว ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองและมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขตามศักยภาพ
การให้ผู้สูงอายุที่ถูกตัดขา โดยเฉพาะที่มีสาเหตุจากโรคหลอดเลือดหรือเบาหวาน หรือผู้สูงอายุที่ถูกตัดขาจากสาเหตุอื่น แต่มีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน เป็นต้น มารับการทดสอบก่อนออกกำลังกาย สามารถช่วยให้การออกกำลังกายมีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายได้อย่างมั่นใจ และมีการปรับเพิ่มการออกกำลังกายให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
การทดสอบก่อนออกกำลังกาย
การทดสอบก่อนออกกำลังกาย จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจว่าควรออกกำลังกายอย่างไรจึงจะเหมาะสม มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย การทดสอบทำโดยให้ผู้ป่วยมาออกกำลังกาย โดยใช้อุปกรณ์ที่ใช้ในการออกกำลังกาย ได้แก่ ลู่เดิน จักรยานปั่นมือ จักรยานปั่นเท้า พร้อมกับมีการตรวจติดตามการทำงานของหัวใจ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในระหว่างการทดสอบ เพื่อตรวจสอบหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นทั้งในระยะก่อน ระหว่างและหลังการออกกำลังกาย
ข้อควรรู้ในการออกกำลังกาย
1. ควรอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกาย โดยค่อยๆ เพิ่มการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อ เพื่อลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ และเพิ่มความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อรวมทั้งเพื่อเป็นการตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นก่อนเพิ่มความหนักในการออกกำลังกายด้วย โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที
2. ควรผ่อนเครื่องหลังการออกกำลังกายทุกครั้งโดยค่อย ๆ ลดความหนักและความเร็วในการออกกำลังกายลง เพื่อช่วยทำให้ความดัน และชีพจรค่อย ๆ กลับสู่เกณฑ์ปกติ รวมทั้งช่วยเพิ่มการไหลเวียนกลับของเลือดดำ เพื่อป้องกันภาวะความดันเลือดต่ำหรืออาการหน้ามืด หลังการออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดด้วยโดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 10 นาที
3. ควรออกกำลังกายหลังอาหารมื้อใหญ่หนักประมาณ 1-2 ชม. เนื่องจากการออกกำลังกายหลังรับประทานอาหารประมาณ 1-2 ชั่วโมง สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่าการออกกำลังกายก่อนรับประทานอาหาร เพราะระดับอินซูลินที่สูงขึ้นหลังรับประทานอาหารช่วยทำให้ตับผลิต และปลดปล่อยกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือดน้อยลง
4. พกพาลูกอม น้ำผลไม้ น้ำ ไปด้วยเมื่อออกกำลังกายเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำและภาวะร่างกายขาดน้ำ
5.ในกรณีที่ฉีดอินซูลิน ไม่ควรฉีดบริเวณกล้ามเนื้อที่มีการออกกำลังกาย เช่น ในการออกกำลังกายที่ใช้ส่วนแขนหรือขา ให้เปลี่ยนไปฉีดบริเวณหน้าท้องแทน
หลักในการออกกำลังกาย
1. ประเภทของการออกกำลังกาย
แนะนำให้ออกกำลังกายประเภทแอโรบิก เช่น เดินหรือปั่นจักรยานขาในผู้ป่วยที่ใส่ขาเทียมและสามารถทรงตัวได้ดี ปั่นจักรยานแขนหรือแกว่งแขนในผู้ป่วยที่ไม่ใส่ขาเทียมหรือใส่ขาเทียม แต่ยังทรงตัวไม่ได้เป็นต้น อย่างไรก็ตามจะเลือกออกกำลังกายชนิดใดขึ้นกับสภาพร่างกาย ความชำนาญ ความถนัด และความชอบของแต่ละบุคคล เพื่อให้ทำได้อย่างสม่ำเสมอและมีความสุข
2. ความหนักของการออกกำลังกาย
ค่อย ๆ เพิ่มระดับในการออกกำลังกาย จากเบาๆและหนักเพิ่มขึ้น โดยให้ความเหนื่อยอยู่ที่ความหนักระดับปานกลาง ทั้งนี้อาจใช้อัตราการเต้นของหัวใจหรือชีพจรเป็นตัวกำหนด โดยอาจกำหนดความเหนื่อยที่อัตราการเต้นของหัวใจหรือชีพจรขณะพักบวก 10 แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้น หรือถ้าไม่สามารถใช้อัตราการเต้นของหัวใจหรือชีพจรได้ ซึ่งอาจเนื่องจากกินยาลดความดันโลหิตบางกลุ่มที่ยับยั้งการเพิ่มของอัตราการเต้นของหัวใจหรือชีพจร แนะนำให้ใช้ระดับความรู้สึกเหนื่อยเป็นตัวกำหนดแทน
3. ระยะเวลาในการออกกำลังกาย
ค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาในการออกกำลังกายจนสามารถออกกำลังกายได้ต่อเนื่องประมาณ 20-30 นาที แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ให้ใช้วิธีออกกำลังกายสะสม โดยออกกำลังกายเป็นระยะเวลานานเท่าที่ทำได้หลาย ๆ ครั้งและสะสมต่อวันได้
4. ความถี่ในการออกกำลังกาย
ประมาณสัปดาห์ละ 3 - 5 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย ความหนักและระยะเวลาในการออกกำลังกาย นอกจากการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแล้ว ผู้ถูกตัดขาจากโรคหลอดเลือดส่วนปลายหรือจากโรคเบา หวาน ควรได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพของหัวใจ ควบคุมโรคเบาหวาน ควบคุมระดับไขมันในเลือด ห้ามสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักตัว รับประทานยาตามแพทย์สั่ง รวมทั้งป้องกันแผลที่ตอขาข้างที่ถูกตัดและป้องกันแผลที่เท้าที่อาจเกิดขึ้นกับขาอีกข้าง โดยเลือกใส่ขาเทียมที่กระชับพอดีกับตอขา ไม่รัดแน่นหรือหลวมจนเกินไป และใส่รองเท้าที่มีขนาดและรูปทรงเหมาะสมกับเท้าข้างปกติ และทำด้วยวัสดุที่นุ่ม ใส่สบาย ระบายเหงื่อและความร้อน และที่สำคัญควรตรวจดูความผิดปกติ เช่น รอยแดง แผล ที่อาจเกิดขึ้นหลังการสวมใส่ทุกครั้ง
ที่มา อ.พญ.วิลาวัณย์ ถิรภัทรพงศ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล