วิธีถนอมไต... | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

วิธีถนอมไต...

Date : 15 January 2016

ร่างกายคนเรา มีส่วนประกอบของอวัยวะที่สำคัญ ๆ หลายอย่าง เช่น หัวใจ ตับ ไต สมอง ปอด แขน ขา ดวงตา ฯลฯ ซึ่งทุกอวัยวะต่างมีความสำคัญ และทำงานเกี่ยวข้องประสานกัน เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุข สำหรับ”ไต”ก็เช่นกัน 
            ไตคนเรามี 2 ข้าง อยู่บริเวณด้านหลังบริเวณบ้านเอวภายหลังที่เรารับประทานอาหาร ขนม หรือน้ำดื่ม ร่างกายจะเก็บสิ่งที่ดีมีประโยชน์ไว้ ส่วนเกินหรือสิ่งที่ไม่ต้องการจะถูกขับออกทางไตเป็นปัสสาวะ ในน้ำปัสสาวะจะมีสารหลายชนิดที่ร่างกายไม่ต้องการ รวมทั้งเกลือแร่ กรด ด่าง เพื่อปรับสมดุล แต่เมื่อไรก็ตามที่ร่างกายเริ่มแสดงอาการอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เช่น บวมตามใบหน้า แขน ขา อ่อนเพลีย ความดันโลหิตสูง เบื่ออาหาร ซีดลง เหนื่อยง่าย ปัสสาวะมีสีผิดปกติ แสดงว่าไตเริ่มทำงานไม่ปกติแล้ว แต่บางคนก็ไม่มีอาการ เพราะร่างกายสามารถปรับตัวได้ดีมาก
            สำหรับหน้าร้อนนี้ ผู้ที่ไตปกติก็คงไม่มีข้อระวังอะไรเป็นพิเศษ นอกจากพยายามหลีกเลี่ยงแสงแดด เพราะจะทำให้เสียเหงื่อมากกว่าฤดูอื่น ๆ ยิ่งถ้าชอบรับประทานอาหารรสจัด ๆ ก็ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เพราะการที่ร่างกายคนเราจะขจัดของเสียได้ ต้องอาศัยน้ำเป็นตัวพาไปสู่การกรองของไตกลายเป็นปัสสาวะ ดังนั้นควรดื่มน้ำประมาณวันละ 2 ลิตร เพื่อให้ร่างกายขับถ่าย นำพาของเสียออกทางปัสสาวะเป็นไปอย่างเต็มที่ ร่างกายจะบอกความต้องการได้จากการกระหายน้ำ เพียงแค่ดื่มน้ำชดเชยกับเหงื่อที่เสียไปก็ช่วยให้ร่างกายอยู่ในสมดุลได้   

สำหรับผู้ป่วยโรคไต ในหน้าร้อนควรให้ความใส่ใจกับการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ และท่านก็สามารถทำได้ง่ายๆ เพียง...
1.ผู้ป่วยโรคไต ชนิดน้อยถึงปานกลาง 
            คือความดันโลหิตไม่สูงมาก ไม่มีอาการบวมแขนและขา ปัสสาวะออกเกิน 1 ลิตรต่อวัน สามารถดื่มน้ำได้ตามปกติ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ วันละ 1 ลิตรครึ่ง ถึง 2 ลิตร หรือตามคำแนะนำของแพทย์ที่ดูแลรักษาประจำ เพื่อการขับถ่ายของเสียจะเป็นไปได้ตามปกติ
2.ผู้ป่วยโรคไตระยะท้าย(กำลังได้รับการรักษาโดยวิธีฟอกเลือด /ผ่านการทำไตเทียมมาแล้ว) 
            ควรดื่มน้ำเมื่อกระหายในปริมาณพอดี ๆ ในแต่ละครั้ง แต่ไม่ควรเกินครึ่งลิตร/วัน เพราะร่างกายไม่ค่อยมีเหงื่อออกและปัสสาวะน้อยอยู่แล้ว จึงควรระมัดระวังให้น้ำหนักคงที่ ไม่มากเกินไปจนเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น น้ำท่วมปอด เป็นต้น 
3.ผู้ป่วยโรคไตที่มีความดันสูง
            ไม่ควรเดินหรือยืนตากแดดนานไป เพราะจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับความดันโลหิตอาจสูงมากไป หรือต่ำเกินไป จนเป็นลมหรือเกิดอุบัติเหตุได้

            “ผู้ป่วยโรคไต ที่หน้าที่ไตยังปกติ” สามารถรับประทานอาหารที่รสไม่เค็มจัดจนเกินไป และผลไม้ได้พอสมควร เพียงแต่จะต้องระวังเรื่องน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
            ส่วนกรณีของ “ผู้ป่วยโรคไต บางระยะที่การทำงานเสื่อมลงปานกลางหรือมากแล้ว จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ถั่ว เครื่องดื่มที่มีสีดำ ผลไม้ที่จะทำให้เกิดการสะสมของธาตุโปตัสเซียม เช่น มะม่วง ทุเรียน ลิ้นจี่ ขนุน ลำไย เงาะ ธาตุโปตัสเซียม ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากจะทำให้หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ และหยุดเต้นทันทีเลยก็ได้

ชนิดของน้ำดื่มก็ต้องให้ความสำคัญนะ
            ในหน้าร้อนมักจะมีการประชาสัมพันธ์การดื่มน้ำที่มีส่วนผสมของเกลือแร่ เพื่อแก้กระหาย แก้อ่อนเพลีย แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไต การดื่มน้ำผสมเกลือแร่เป็นข้อห้ามที่สำคัญมาก เนื่องจากผู้ป่วยโรคไตมีสารเกลือแร่บางชนิดคั่งมากอยู่แล้ว ทำให้เกลือแร่ที่ได้เข้าไปมีระดับสูงจนเป็นอันตรายถึงชีวิต
            การดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำสมุนไพร ก็เช่นเดียวกัน ควรปรึกษาแพทย์ผู้ที่ดูแลอยู่ว่าท่านสามารถดื่มได้หรือไม่ ในปริมาณเท่าใด เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคไตแต่ละระยะ จะมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน และที่สำคัญ คือน้ำแร่ที่มีจำหน่ายก็มีข้อจำกัดสำหรับผู้ที่เป็นโรคไต ดังนั้นต้องปรึกษาแพทย์ก่อนซื้อมาดื่ม มิเช่นนั้นอาจเกิดโทษได้

 ที่มา ศ.พญ.ธัญญารัตน์  ธีรพรเลิศรัฐ  หน่วยโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล