โรคเบาหวานสู่โรคไต ป้องกันหรือบรรเทาได้อย่างไร? | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

โรคเบาหวานสู่โรคไต ป้องกันหรือบรรเทาได้อย่างไร?

Date : 20 January 2016

    โรคเบาหวาน มักจะมาพร้อมกับอาการหรือโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ในที่นี้เราจะกล่าวถึง”โรคไตวายเรื้อรัง” เนื่องจาก 1 ใน 3 ของผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัญหาในการควบคุมน้ำตาลในเลือดจะเกิดโรคไตวายเรื้อรัง โดยเฉพาะในผู้ป่วยกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป มีความดันเลือดสูง และบุคคลในครอบครัว มีประวัติเป็นโรคไตวายเรื้อรังร่วมด้วย

ภาวะน้ำตาลในเลือดที่สูงมานาน จะส่งผล “ไตของผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน” ดังนี้
        -  ผลต่อหลอดเลือดฝอยที่ไต น้ำตาลจะสะสมที่ผนังหลอดเลือดทำให้ หลอดเลือดตีบและอุดตันในที่สุด จึงพบการรั่วของโปรตีนออกมาในปัสสาวะ และทำลายไต ทำให้ความสามารถในการกรองเอาของเสียออกจากร่างกายลดลง
        -  ผลต่อเส้นประสาทในร่างกาย  จะเกิดการทำลายเส้นประสาทในร่างกาย ทำให้การสั่งงานระหว่างสมองและอวัยวะที่ควบคุมโดยเฉพาะ “กระเพาะปัสสาวะ”  มีการทำงานลดลง ดังนั้นเวลากระเพาะปัสสาวะมีน้ำปัสสาวะเต็มจึงไม่รู้สึกปวด และความสามารถในการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะก็อาจจะลดลง ทำให้เกิดการคั่งของปัสสาวะจึงมีผลต่อความดันที่เพิ่มขึ้นในทางเดินปัสสาวะ และส่งผลต่อการทำลายไตในที่สุด
        -  ผลต่อการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ  การคั่งของปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ และลุกลามขึ้นมาตามทางเดินปัสสาวะจนทำลายเนื้อไต
         จากหลักฐานทางการแพทย์พบว่าผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัญหาในการควบคุมน้ำตาลจะเริ่มเข้าสู่ “ภาวะไตถูกทำลาย” ในระยะ 5 ปีแรก จากนั้นอีกประมาณ 5 – 15 ปี จะเกิด “ภาวะความดันเลือดสูง” และ “การทำงานของไตลดลง”  ต่อจากนั้นอีก 3 – 5 ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็จะ “เข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย”
         อย่างไรก็ตามผู้ป่วยเบาหวานไม่จำเป็นจะต้องเกิดโรคไตวายเรื้อรังทุกคน เพราะแค่ดูแลและปฏิบัติตนอย่างถูกต้องก็จะสามารถป้องกันหรือลดความรุนแรงต่อการเกิดโรคไตซึ่งอาจนำไปสู่ไตวายเรื้อรังได้

ข้อแนะนำในการปฏิบัติตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน
       -  การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
 เป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ควรให้อยู่ในเกณฑ์ตามคำแนะนำของแพทย์ ได้แก่ การควบคุมอาหารออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่แพทย์แนะนำให้ใช้ยาควบคุมน้ำตาลในเลือดทั้งชนิดกินหรือยาฉีดอินซูลิน ที่สำคัญต้องใส่ใจกับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์นัด
       -  ควบคุมความดันเลือด
 ละเลยไม่ได้เชียวนะครับ เพราะหากละเลยอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่ส่งผลกระทบต่อหัวใจ สมอง และไต
       -  สังเกตอาการผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ
 โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยเบาหวานจะมีความผิดปกติของเส้นประสาท ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะ และกระทบไปถึงการทำงานของไตได้ ดังนั้นหากปัสสาวะแล้วรู้สึกไม่สุด มีปัสสาวะค้าง ปัสสาวะลำบาก ต้องเบ่ง หรือมีภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (เมื่อปัสสาวะจะรู้สึกแสบ ขัด และหากปัสสาวะสุดจะเจ็บร่วมกับปัสสาวะบ่อย) ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติทันที
       -  ควบคุมอาหารประเภทโปรตีน
 ผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคไตร่วมด้วยควรได้รับอาหารโปรตีนอย่างพอเพียง ในขณะเดียวกันพบหลักฐานแสดงให้เห็นว่าการควบคุมจำกัดอาหารโปรตีนอย่างเหมาะสมสามารถชะลอการเสื่อมของไตได้ ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโรคไตควรปรึกษาแพทย์เรื่องการควบคุมอาหารโปรตีนอย่างเหมาะสมต่อไป
       -  ควบคุมไขมันในเลือด
 ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่จะมีไขมันในเลือดสูง ซึ่งจะมีผลทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจและสมองตีบตัน จึงจำเป็นที่จะต้องควบคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ และในปัจจุบันเริ่มมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าไขมันที่สูงในเลือด ก็อาจส่งผลทำให้การทำงานของไตลดลง
       -  หยุดสูบบุหรี่
 ผู้ป่วยเบาหวานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีโรคไตร่วมด้วยควรหยุดสูบบุหรี่ เนื่องจากจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง
       -  ยาที่ส่งผลต่อไต
 ผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคไตร่วมด้วย ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการใช้ยาแก้ปวด โดยเฉพาะยาในกลุ่ม NSAIDs (non-steroidal anti-inflammatory drugs)  ทุกชนิด เพราะจะมีผลทำให้เกิดไตวายเรื้อรังหรือทำให้หน้าที่การทำงานของไตเสื่อมลง ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งที่จะใช้ยาในกลุ่มนี้
          จะเห็นได้ว่าสุขภาพกายและใจของผู้ป่วยเบาหวานทุกคนจะดีขึ้นได้ ส่วนหนึ่งนอกจากจะมาจากการได้รับการดูแลรักษาที่ดีแล้ว ยังมาจากการปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์ ที่สำคัญ กำลังใจจากคนรอบข้างโดยเฉพาะบุคคลในครอบครัวและเพื่อน ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญนะครับ

ที่มา อ.นพ.สมเกียรติ วสุวัฏฏกุล หัวหน้าสาขาวิชาวักกะวิทยา ภ.อายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล