โรคเนฟโฟรติก | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

โรคเนฟโฟรติก

Date : 3 February 2016

ทำความรู้จักกับโรคเนฟโฟรติก
มารู้จักกลุ่มอาการ “เนฟโฟรติก” ในเด็กกลุ่มอาการ “เนฟโฟรติก” (Nephrotic Syndrome) เป็นโรคไตชนิดเรื้อรังที่พบได้บ่อยในเด็ก ส่วนใหญ่ไม่พบว่ามีสาเหตุ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มีการสูญเสียโปรตีนที่เชื่อว่า “ อัลบูมิน (Albumin) ในปริมาณมากออกทางปัสสาวะทำให้อัลบูบินในเลือดลดต่ำลงจนกระทั่งเกิดอาการบวมทั้งตัว แม้จะรักษาจนหายดีแล้วก็มักมีโอกาสกลับมาบวมซ้ำได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดเจ็บป่วยอาการติดเชื้อต่างๆ

สงสัยว่าลูกเป็น “เนฟโฟรติก” เมื่อไหร่

  1. มีอาการบวมทั่วตัว ในช่วงแรกอาจสังเกตเห็นเพียงหนังตาบวมทั้ง 2 ข้าง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในช่วงเช้าหลังการนอน
  2. อาจสังเกตเห็นน้ำปัสสาวะเป็นฟองมากกว่าปกติ

ทำอย่างไรเมื่อลูกเป็น “เนฟโฟรติก”

  1. ผู้ป่วยสามารถไปโรงเรียน หรือ ออกกำลังกายได้ตามปกติ แต่ไม่แนะนำให้ออกกำลังกายหนักเกินควร ถ้ามีอาการบวม หรือ วัดความดันเลือดแล้วพบว่ามีค่าสูง
  2. ควรให้รับประทานอาหารโปรตีน เช่น ไข่ นม เนื้อสัตว์ ให้เพียงพอ
  3. งดอาหารเค็มจัด หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของเกลือโซเดียมปริมาณสูงจนกว่าจะตรวจไม่พบโปรตีนในปัสสาวะ และแพทย์อนุญาต
  4. รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด อย่าลดหรือหยุดยาเองและมาตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง
  5. การเจ็บป่วยใดๆ แม้เป็นเพียงเล็กน้อย เช่น ฟันผุ ผิวหนังอักเสบ หรือเป็นหวัดก็อาจทำให้ “เนฟโฟรติก” กำเริบ และกลับบวมขึ้นได้รวมทั้งอาจทำให้การตอบสนองต่อการรักษาไม่ดี ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงปัญหาการติดเชื้อต่างๆ รักษาสุขภาพอนามัย และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

รักษา “เนฟโฟรติก” ได้อย่างไร

ในกรณีที่เป็น “เนฟโฟรติก” ชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่จะได้รับยากลุ่ม สเตียรอยด์ (Sterold) ได้แก่ Prednisolone ชนิดรับประทานโดยจะได้รับในปริมาณมาก ในช่วงแรกผู้ป่วยส่วนใหญ่ตอบสนองดีต่อยาอาการบวมลดลง และผลการตรวจปัสสาวะมักพบเป็นปกติภายใน 2 สัปดาห์ขนาดยาจะได้รับการปรับลดเป็นระยะ จนกระทั่งหยุดยาได้

ขอบคุณข้อมูลจาก : ร.อ.รศ.นพ. อนิรุธ ภัทรากาญจน์
กุมารแพทย์โรคไต โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : babycenter.com