ภาวะปวดข้อสะโพกจากหัวกระดูกสะโพกขาดเลือด | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

ภาวะปวดข้อสะโพกจากหัวกระดูกสะโพกขาดเลือด

Date : 5 February 2016

ภาวะหัวกระดูกสะโพกขาดเลือดได้รับความสนใจมากขึ้นในปัจจุบันอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีการรักษาได้เปลี่ยนบทบาทการรักษาและการดำเนินโรค  ช่วยให้ผู้ป่วยที่ประสบภาวะดังกล่าวลดความทุกข์ทรมานได้มาก 

สาเหตุของภาวะดังกล่าวที่ทำให้หัวกระดูกสะโพกขาดเลือดและนำไปสู่ภาวะข้อเสื่อม หรือหัวกระดูกตายมีหลายสาเหตุ สามารถจำแนกได้คร่าวๆ คือ สาเหตุอันเกี่ยวเนื่องจากอุบัติเหตุที่กระดูกสะโพก แล้วทำให้ข้อสะโพกหัก หรือเคลื่อนหลุด และอีกสาเหตุหนึ่งคือ การเกิดภาวะที่กระดูกตายอันเนื่องมาจากโรคประจำตัว หรือได้รับสารพิษบางประเภท เช่น แอลกอฮอล์ในปริมาณมาก รวมถึงการได้รับยาบางประเภท เช่น เสตียรอยด์

แต่ละสาเหตุล้วนทำให้เกิดการตายของหัวกระดูกได้เร็วช้าต่างกัน ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายย่อมมีการดำเนินโรคที่จำเพาะสำหรับแต่ละคน  ผู้ป่วยบางรายหัวกระดูกตายเพียงบางส่วนและการดำเนินโรคเป็นไปอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ในระดับต่ำกว่าปกติที่เคยทำ  แต่ในบางรายหัวกระดูกตายเร็วทำให้มีความทุกพลภาพ ในการทำกิจวัตรได้ลดลง รวมถึงหน้าที่การงานก็จำเป็นต้องเปลี่ยนไปในทางที่ลดลงด้วยเช่นกัน

การวินิจฉัยภาวะหัวกระดูกตายควรใช้ภาพรังสีในการร่วมวินิจฉัย หรือในบางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้ภาพรังสีชนิดพิเศษ MRI (Magnetic Resonance Image) ในการร่วมวินิจฉัย และช่วยประเมินการดำเนินของโรค เพราะในช่วงที่หัวกระดูกเริ่มตายอาจไม่ปรากฏหลักฐานในการใช้ภาพรังสีชนิดธรรมดา

การรักษาแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ

  1. การรักษาด้วยวิธีอนุรักษ์นิยม อันเป็นการชะลอการดำเนินของโรค หรือพยายามหยุดการดำเนินโรค เพื่อให้ข้อสะโพกเสียหายน้อยที่สุด และสามารถใช้ได้นานที่สุด
  2. การรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งมีหลายวิธี ขึ้นกับภาวะของโรคที่เป็น การรักษาด้วยการผ่าตัดบางประเภทสามารถใช้เพื่อชะลอการดำเนินโรค ลดภาวะความเจ็บปวด และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน แต่ผู้ป่วยยังคงใช้ข้อสะโพกของตนเองอยู่    ซึ่งในผู้ป่วยบางรายที่การดำเนินโรคถึงระยะสุดท้าย  การรักษาด้วยการเก็บข้อสะโพกไว้อาจไม่สามารถทำได้ หากเป้าประสงค์ของผู้ที่ได้รับการรักษาอยากที่จะกลับไปเดินได้โดยไม่มีอาการเจ็บปวด  การรักษาด้วยการเปลี่ยนข้อเทียมจึงมีบทบาทมากขึ้น  ซึ่งเทคโนโลยี่ในปัจจุบันสามารถทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ และอาจยึดอายุการใช้งานของข้อเทียมได้ไม่มากก็น้อย

ด้วยความเข้าใจในโรคที่เป็น และได้รับการดูแลข้อสะโพกที่มีอาการขาดเลือดไปเลี้ยงอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้ สามรถที่จะใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุขตามอัตภาพ  และสามารถปรับตัวได้หากจำเป็นต้องอาศัยการผ่าตัดรักษาด้วยการทดแทนข้อสะโพกที่เสียหาย  ทั้งความเข้าใจในโรคยังสามารถลดความสูญเสียของข้อสะโพกข้างที่ยังไม่เกิดโรคได้อีกทางหนึ่งด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : อ. นพ.ลิขิต รักษ์พลเมือง
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการบาดเจ็บด้านสะโพกและข้อเข่า (ข้อเทียม) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล