การกินเค็มในเด็กเกินความพอดี ทำให้เป็นโรคแทรกซ้อนอื่นๆตามมา เกิดภาวะไตวายเรื้อรังและเสียชีวิตในที่สุด ปัจจุบันจึงพบผู้ป่วยเด็กโรคไตเพิ่มขึ้น
นพ.ชาตรี บานชื่น ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคไตกำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก ในรอบหลายปีที่ผ่านมา คนไทยมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใส่ใจ หันมาบริโภคเค็มลดน้อยลง
เพราะการรับประทานเค็มมากๆ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคไต รวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือดในสมอง ซึ่งจากการสำรวจของสำนักโภชนาการกระทรวงสาธารณสุขพบว่า คนไทยบริโภคโซเดียมสูงเกินกว่าค่าที่กำหนดขององค์การอนามัยโลกถึง 2 เท่า หรือประมาณ 4,350 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งการกินอาหารที่มีโซเดียมสูงเป็นประจำจนเคยชินจะทำให้เรานั้นติดรสเค็มได้
สำหรับในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขและสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมงาน “วันไตโลก” (World Kidney Day) และการจัดงานสัปดาห์วันไตโลก ประจำปี 2559 ภายใต้คำขวัญ “โรคไตเป็นได้ตั้งแต่เด็ก รู้แต่เล็กป้องกันได้” และได้เน้นการรณรงค์โรคไตในเด็กเป็นสำคัญ
เนื่องจากปัจจุบันนี้มีผู้ป่วยเด็กป่วยเป็นโรคไตจำนวนมาก สาเหตุเนื่องจากมีการรับประทานเค็มในเด็กเกินความพอดี อะไรบ้างที่เค็ม เช่น ขนมขบเคี้ยวที่เป็นประเภทซองต่าง ๆ ขนมแปรรูป ที่เป็นมันฝรั่งทอด และอื่นๆ อีกมากมาย เมื่อซื้อไปรับประทานแล้ว ทำให้เด็กไม่อยากทานข้าว มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเกินเกณฑ์มาตรฐานของเด็ก อวัยวะอย่างไตก็ทำงานหนักขึ้น และเป็นสาเหตุของภาวะเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคไตในเด็ก ดังนั้นจึงขอฝากไปยังผู้ปกครองทุกคนด้วย ให้ดูแลเรื่องอาหารการกินของเด็กเป็นสำคัญ อยากให้รับประทานเค็มในปริมาณพอดี ชีวิตก็จะมีความสุข ปลอดโรค
ศ.นพ.สมชาย เอี่ยมอ่อง นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บทบาทของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย มีหน้าที่ในการดูแลและรักษาผู้ป่วยทางด้านโรคไตและโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับไต มีความสำคัญต่อชีวิตของคนเราอย่างไรบ้าง ไตเป็นส่วนหนึ่งของทางเดินปัสสาวะซึ่งมีหน้าที่สร้างปัสสาวะ ซึ่งทางเดินปัสสาวะประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ 4 ส่วน คือ ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ ไตเป็นอวัยวะที่ผลิตปัสสาวะจากการกรองเอาของเสีย น้ำและเกลือแร่ส่วนเกินจากเลือดที่ไหลผ่านไต
ปัสสาวะเมื่อผลิตจากไตแล้วจะผ่านมาทางท่อไตไปเก็บไว้ที่กระเพาะปัสสาวะ เมื่อปริมาณปัสสาวะที่เก็บไว้ในกระเพาะปัสสาวะมากพอ เราจะรู้สึกปวดปัสสาวะ เมื่อถึงเวลาที่เราต้องการปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะจะบีบตัวและหูรูดของกระเพาะปัสสาวะจะเปิดออก ทำให้ปัสสาวะไหลผ่านท่อปัสสาวะออกสู่ภายนอก อาการของโรคไต สังเกตง่าย ๆ คือ อาการบวม ทุกคนคงเคยมีการบวมมาแล้ว
การบวมส่วนใหญ่เป็นการบวมเฉพาะที่ เช่น ถูกแมลงกัดต่อย ฟกช้ำหลังเล่นกีฬา การบวมแบบนั้นมักไม่มีปัญหามาก การรักษาเฉพาะที่จะทำให้อาการบวมดีขึ้นในเวลาไม่นาน แต่การบวมที่มีความสำคัญที่เป็นอาการเริ่มแรกของโรคไต คือการบวมทั้งตัว ในระยะแรกอาจมีเพียงการบวมที่หนังตาและหน้าจะรู้สึกว่าแหวนหรือรองเท้าคับขึ้น ต่อมาจะมีการบวมที่ขาและเท้าทั้งสองข้าง ถ้าบวมไม่มากอาจสังเกตไม่เห็น ลองใช้นิ้วกดที่หน้าแข้งสักพักแล้วปล่อย หากมีรอยบุ๋มอยู่แสดงว่ามีอาการบวม ซึ่งอาการบวมเกิดจากการมีน้ำและเกลือเพิ่มขึ้นในร่างกาย
โรคสำคัญที่ทำให้บวมก็คือ โรคไต โรคหัวใจ และโรคตับ ดังนั้นถ้ามีลักษณะการบวมทั้งตัว ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็คและอาจจำเป็นต้องเจาะเลือและตรวจปัสสาวะด้วย
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานคณะทำงานการจัดงานวันไตโลก กล่าวว่า สำหรับการทำงานของเครือข่ายลดบริโภคเค็มที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เพื่อทำการรณรงค์ให้ประชาชนปรับพฤติกรรมการบริโภคเค็ม (โซเดียม) ให้ลดลง และต้องการให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายในการบริโภคเค็ม
ถ้าหากเราพูดถึงโรคไต หลายๆ คนอาจคิดว่าเป็นโรคของผู้ใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไป ทำให้โรคไตก็สามารถเกิดขึ้นในเด็กได้ ซึ่งถ้าหากไม่รีบทำการรักษาหรือป้องกันแต่เนิ่นๆ ก็อาจนำไปสู่สภาวะไตวายระยะสุดท้าย จึงทำให้ในปีนี้จึงต้องทำการรณรงค์เรื่องโรคไตในเด็กให้ประชาชนตระหนักถึงการบริโภครสเค็ม หลังจากพบผู้ป่วยเด็กเป็นโรคไตเพิ่มขึ้นทุกปีและเพิ่มสูงมากขึ้นจนน่ากลัว ซึ่งเป็นผลมาจากการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม
การรับประทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไปและการไม่ออกกำลังกาย จึงส่งผลเสียต่อการทำงานของไตในเด็ก การรณรงค์ลดการบริโภคเค็มทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ สามารถทำได้โดยให้ความรู้ผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับความรู้เกี่ยวกับการบริโภคเค็มว่าอันตรายขนาดไหน อีกทั้งยังรณรงค์ให้ประชาชนลดบริโภคเค็มลงทีละน้อย จนกว่าร่างกายจะคุ้นชินกับรสชาติอาหาร ซึ่งการลดบริโภคโซเดียมลงมาต่ำกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ในประชาชนจะช่วยลดภาวะเสี่ยงต่อโรคหัวใจอย่างน้อย 10%
ผศ.นพ.พรชัย กิ่งวัฒนกุล ประธานชมรมโรคไตในเด็ก เปิดเผยว่า อาการของโรคไตในเด็กจะมีความแตกต่างกัน เช่น สำหรับผู้ป่วยบางคนที่มีอาการไข้สูง บวม จะมีปัสสาวะออกน้อย และมีโปรตีนรั่วออกไปในปัสสาวะ ซึ่งจะเรียกว่า โรคไตเนโฟรติก และบางคนปัสสาวะจะมีเม็ดเลือดแดงมาก เรียกว่าโรคไตเนไฟรติส ซึ่งจะอยูในกลุ่มคนโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งลักษณะอาการในภาพรวม จะปัสสาวะน้อย ร่างกายมีอาการบวมมาก ความดันเลือดสูง ตรวจพบเกลือแร่ผิดปกติ ไตวายเฉียบพลันและเรื้อรัง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ไต จะต้องเข้ารับการรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะหรือการใช้ยากดภูมิต้านทาน เพื่อรักษาอาการ ลดบวม ลดความดันเลือด สำหรับอาการทั่วไปแพทย์จะให้ผู้ป่วยคุมเรื่อง อาหาร น้ำ เกลือแร่ต่าง ๆ เพื่อให้ร่างกายเกิดความสมดุล ในส่วนของการรักษาทดแทนไตในเด็กนั้น จะต้องทำการฟอกเลือดด้วยการล้างไตทางช่องท้อง ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ใช้เวชภัณฑ์เฉพาะที่เหมาะกับเด็กและการปลูกถ่ายไต
การป้องกันโรคไตในเด็ก จะต้องดูเรื่องโภชนาการ ลดน้ำลดเกลือและต้องดื่มน้ำให้พอเพียง สำหรับในกลุ่มไตวายเรื้อรัง ต้องปรับลดโปรตีน โปแตสเซียม และฟอสเฟต จากนมวัว ผัก ผลไม้ มันฝรั่ง และน้ำอัดลม ในส่วนของการอักเสบจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ จะต้องเริ่มจากสุขอนามัยของการปัสสาวะ, ลดความอ้วน, รักษาความสะอาด และวินัยในการดูแลตนเอง เช่น การทานยาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์