เมื่อก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สุขภาพจึงเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ มาเรียนรู้ 8 โรค ที่มาพร้อมกับอายุที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมวิธีป้องกัน เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง
โรคกระดูกและข้อ
ผู้สูงอายุที่ชอบบ่นปวดเข่า ปวดสะโพกเวลาที่ลุก นั่ง หรือเดินขึ้นลงบันได เป็นอาการที่บ่งบอกว่าท่านกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกและข้อ เช่น ข้อเสื่อมซึ่งมักเกิดบริเวณอวัยวะที่รับน้ำหนักมากๆ เช่น เข่า สะโพก ข้อกระดูกสันหลัง คอ โดยเฉพาะคนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เกิดจากกระดูกอ่อนที่ฉาบผิวกระดูกข้อไว้ไม่ให้เกิดการเสียดสีขณะลุก นั่ง ยืน หรือเดินเสื่อมสภาพ จนเกิดอาการปวด อักเสบ ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน จากการสูญเสียมวลกระดูกจากการขาดแคลเซียมหรือได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอลล์ ทำให้เนื้อกระดูกบาง เปราะและหักง่าย ป้องกันได้โดย ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกาย ไม่นั่งยองๆ กับพื้น ผุดลุกผุดนั่งบ่อยๆ หรือยกของหนัก รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง งดสูบบุหรี่ ดื่มกาแฟ หรือใช้ยาสเตียรอยด์
โรคตา
นอกจากสายตายาวที่พบในผู้สูงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปแล้ว ยังมีโรคทางตา เช่น โรคตาแห้ง มีอาการเคือง-คันตา ตาแดงบ่อยๆ ป้องกันได้โดยกระพริบตาบ่อยๆ ขณะอ่านหนังสือ ใส่แว่นตากันลม เลี่ยงฝุ่นควัน, ต้อกระจก ทำให้เลนส์ตาขุ่น แสงผ่านเข้าได้น้อย มองเห็นไม่ชัด เห็นภาพซ้อน, ต้อหิน เกิดจากความดันในลูกตาสูงทำให้เส้นประสาทตาถูกทำลาย กรณีที่ความดันตาสูงมากเฉียบพลัน จะมีอาการปวดตา ปวดศีรษะรุนแรง ตาแดง อาเจียน มองเห็นไฟเป็นดวงๆ กระจัดกระจาย,จอตาเสื่อม โดยเซลล์ประสาทตาบริเวณจุดรับภาพค่อยๆ เสื่อมอย่างช้าๆ จนกระทั่งมองไม่เห็นตรงกลาง อาจทำให้จอตาเสื่อม บวม และมีเลือดออก ตามัวเฉียบพลัน และบอดได้ กรณีที่เป็นเบาหวานเมื่อเบาหวานขึ้นจอประสาทตาอาจทำให้ตาบอดได้เช่นกัน จึงหมั่นตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ สวมแว่นกันแดด เมื่อพบอาการผิดปกติรีบไปพบจักษุแพทย์
โรคผิวหนัง
ปัญหาผิวหนังในผู้สูงวัยที่สังเกตได้ชัดคือ ร่องรอยเหี่ยวย่น หย่อนคล้อย ผิวหนังแห้ง คัน แพ้ง่าย เนื่องจากไขมันที่ช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนังลดลง เกิดฝ้า กระ ด่างบริเวณใบหน้า หลังมือ แขน หมั่นดูแลผิวโดยใช้โลชันหรือมอยส์เจอร์ไรเซอร์ทาเป็นประจำ หลีกเลี่ยงแดดจัด ทาครีมกันแดด นอกจากนี้ผู้สูงอายุมักเป็นภูมิแพ้ผิวหนัง สะเก็ดเงิน หมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังเป็นระยะ ถ้าผิวเข้มขึ้น บวมขึ้น มีเลือดออกผิดปกติ เป็นสะเก็ด เม็ดๆแข็งๆ ผิวไม่เรียบควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่าเป็นมะเร็งผิวหนังหรือไม่ นอกจากนี้อาจเกิดจากการอักเสบของผิวหนังจากการแพ้ยาที่ผู้สูงอายุมักใช้บ่อย เช่น ยาแก้ปวดกระดูก ยาลดความดันเลือด ยาขับปัสสาวะ ควรหลีกเลี่ยง ถ้าผิวหนังอักเสบจากอากาศแห้งหรือหนาว หลีกเลี่ยงสบู่หรือใช้สบู่ที่มีครีมเป็นส่วนผสม น้ำหอม และใช้ครีมเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวเพื่อป้องกันการแห้งกร้านเป็นขุยหลังจากอาบน้ำเช้าเย็น
โรคมะเร็ง
เป็นโรคที่คนส่วนใหญ่กลัวและไม่อยากพูดถึง หรือเมื่อรู้ว่าเป็นมะเร็งรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง ทั้งที่มะเร็งสามารถป้องกันและรักษาให้หายขาดได้ถ้าได้รับการตรวจตั้งแต่เพิ่งเริ่มเป็น สัญญาณเตือนของโรคมะเร็ง เช่น ระบบการย่อยอาหารและการ ขับถ่ายเปลี่ยนแปลง เช่น ท้องผูกสลับท้องเสียมีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด เลือดกำเดาไหลบ่อย ไอ-อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระหรือปัสสาวะเป็นเลือด แผลเรื้อรังไม่หายใน 3 สัปดาห์ มีก้อนที่เต้านมหรือตามัว ไฝโตขึ้นหรือเปลี่ยนสี ไอเรื้อรัง เสียงแหบ น้ำหนักลด ถ้ามีอาการที่ว่านี้ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อทำการรักษาตามชนิดและระยะของโรคมะเร็ง มะเร็งป้องกันได้โดยลดปัจจัยเสี่ยง เช่น งดสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆดิบๆ ปิ้งย่าง อาหารหมักดอง รับประทานอาหารที่มีกากใยและไขมันต่ำ เช่น ผัก ผลไม้ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
โรคสมองเสื่อม
หากท่านเป็นคนหนึ่งที่หลงลืมบ่อยๆ เช่น ลืมปิดน้ำ ปิดไฟ หาของที่วางไว้ไม่เจอ อาการแบบนี้คนแก่หรือคนหนุ่มสาวก็เผลอลืมกันได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ไม่รู้ว่าอยู่ในบ้านของ ตัวเอง บ้านอยู่ไหน เก็บของมีค่าไว้ที่ไหน เป็นพฤติกรรมบ่งบอกอาการของ"โรคสมองเสื่อม" ซึ่งพบในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีอาการหลงลืมง่าย ลืมเรื่องสำคัญ ในชีวิตประจำวัน จำวันเวลาไม่ได้ ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย ไม่สามารถอาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว รับประทานอาหาร ขับถ่ายด้วยตัวเองได้ จำเหตุการณ์ ผู้คน ชื่อตัวเองไม่ได้ หวาดระแวง เห็นภาพหลอน จำทางกลับบ้านไม่ได้ ป้องกันได้โดยหมั่นตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ งดบุหรี่ เครื่องดื่มแฮลกอฮอลล์ ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก อ่านหนังสือ ฟังเพลง นั่งสมาธิ และควรมีสมุดบันทึกพกติดตัวไว้จดข้อมูลต่างๆ กันลืม พยายามจัดเก็บของเป็นหมวดหมู่เพื่อให้หาง่ายและไม่สับสน
โรคเหงือกและฟัน
ฟันสึก-กร่อน ฟันโยก ฟันผุ เป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุ ที่พบบ่อยคือบริเวณด้านบดเคี้ยวของฟันกรามและปลายฟันหน้า บริเวณคอฟันใกล้ขอบเหงือก มีอาการเสียวฟัน ถ้าไม่รีบรักษาอาจสึกลึกไปถึงโพรงประสาทฟัน ทำให้ปวดฟันและฟันผุบริเวณคอฟัน ซอกฟัน รากฟัน จนเกิดการสะสมของเชื้อโรคและอาหาร รวมถึงโรคปริทัณต์และเหงืออักเสบจากคราบจุลินทรีย์ที่ติดบริเวณคอฟันทำให้เกิดการระคายเคืองและเหงือกอักเสบ ฟันโยก ผุ ควรทำความสะอาดเหงือและฟันโดยใช้แปรงที่มีด้ามจับถนัดมือ ขนาดแปรงพอดีกับขนาดช่องปาก ขนแปรงนิ่ม ปลายมน ใช้ฟันปลอมที่ถอดทำความสะอาดง่าย ถ้าเป็นชนิดติดแน่นควรใช้ไหมขัดทำความสะอาด กินอาหารที่มีกากใยย่อยง่าย ลดอาหารที่เหนียวติดฟัน อาหารเปรี้ยวจัด น้ำอัดลม ไม่กินจุบจิบ โดยเฉพาะก่อนนอนเพื่อลดการตกค้างของเศษอาหาร คนใส่ฟันปลอมงดอาหารเหนียวและแข็ง
โรคไขมันในเลือดสูง
เป็นโรคฮิตของคนสูงวัย จากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ จะรู้ว่ามีไขมันในเลือดสูงหรือไม่จะต้องตรวจเลือดเพื่อหาระดับไขมัน โดยไขมันชนิดที่ไม่ดี (LDL) จะต้องอยู่ในระดับที่น้อยกว่า 130 มิลลิกรัม/DL ถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมระดับ 160-189 มิลลิกรัม/DL อยู่ในเกณฑ์สูง และตั้งแต่190 มิลลิกรัม/DL ขึ้นไปถือสูงมาก ส่วนไตรกลีเซอเป็นไขมันที่คอยขัดขวางไม่ให้ไขมันดีไปจัดการกับไขมันที่อยู่ในเลือดถ้ามีมากจนเกินไป ไขมันดีจะไม่สามารถกำจัดไขมันที่ไม่ดีในเลือดได้ ทำให้ไขมันไม่ดีไปสะสมในร่างกาย ไปเกาะตามผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบตัน เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองตีบ หัวใจตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต ป้องกันโดยงดอาหารที่มีไขมัน กินปลา ถั่ว ธัญพืช ผัก ผลไม้ อาหารต้ม นึ่ง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกะทิ อาหารทอด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
โรคเบาหวาน
เป็นโรคที่คนไทยเป็นกันมากและนับวันคนที่เป็นเบาหวานจะอายุน้อยลงเรื่อยๆ รวมถึงผู้สูงอายุ เบาหวาน มี 2 ชนิดคือ เบาหวานที่เกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนซึ่งไม่สามารถผลิตอินซูลินซึ่งเป็นน้ำตาลจากกระแสเลือดส่งไปยังเซลล์ต่างๆ ทำให้น้ำตาลตกค้างในกระแสเลือด เป็นได้กับคนทุกวัย ชนิดที่สอง เป็นเบาหวานที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะคนอ้วนลงพุงทำให้อินซุลินลดระดับน้ำตาลในเลือดได้น้อยลง หรือมีอยู่แต่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ จัดเป็นภัยเงียบเพราะไม่แสดงอาการจนกว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 180 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ขึ้นไป สัญญาณเตือนว่าเป็นเบาหวาน เช่น หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ติดเชื้อบ่อยๆ เป็นแผลแล้วหายช้า ตาพร่ามองไม่เห็น ชาตามปลายมือปลายเท้า ก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น เบาหวานขึ้นตา ทำให้หลอดเลือดส่วนต่างๆ ตีบ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ ไตวาย สมองตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด หรือมีแป้งมาก ผลไม้ที่มีรสหวานน้อย หรือรสอมเปรี้ยวอมหวาน ถ้ารับประทานมากไปก็จะให้น้ำตาลมากได้เช่นกัน และหมั่นออกกำลังกาย คนอ้วนต้องลดน้ำหนัก
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ