รู้ว่าเป็นโรคไตได้อย่างไร? | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

รู้ว่าเป็นโรคไตได้อย่างไร?

Date : 4 July 2016

โดยทั่วไปจะไม่มีอาการบอกให้รู้ล่วงหน้า จึงเป็นโรคที่น่ากลัว เป็นเพชฌฆาตมืดที่คุกคามชีวิตผู้คนอย่างเลือดเย็น
เปรียบเสมือนเราพาทหารไปรบ รบเสียรี้พลไปไม่กี่คน จะไม่รู้สึกว่าเสียกำลังพล ต่อเมื่อการสูญเสียบ่อยครั้งหรือเสียทีละมากๆ จึงจะรู้สึกว่ากำลังพลร่อยหรอลง หรือสู้รบเสียทีละมากๆ จึงจะใจหายว่าเราได้เสียกำลังพลไปมาก เช่นเดียวกัน หน่วยกรองไตที่เสียหายไปเล็กน้อย จะไม่รู้สึกอะไร ต่อเมื่อเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ หรือเสียหายมากๆ อย่างเฉียบพลันจึงจะปรากฏอาการให้เห็น ถึงตอนนั้น หน่วยกรองไตได้รับความเสียหายไปมากแล้ว


รู้ว่าเป็นโรคไตได้อย่างไร?
ความเสียหายของหน่วยกรองไต ไม่อาจฟื้นกลับมาได้ เพราะไตไม่อาจซ่อมแซมให้ฟื้นคืนดังเดิมได้ เช่นเดียวกับประสาท ดังนั้น การป้องกันไม่ได้เกิดโรคไต จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ถ้าเราสามารถสังเกตพบได้ในระยะเริ่มต้น ตรวจเช็คร่างกายเป็นประจำแล้วพบหมอให้เร็ว จะเท่ากับเราชะลอความเสียหายของหน่วยไตให้ช้าลง เท่ากับติดเบรกให้รถเพื่อชะลอความเร็วไว้บ้างเวลาลงเขา จะได้ไม่ลงเร็วจนเกินไป

สังเกตว่าเป็นโรคไตหรือไม่
1.จากปัสสาวะ - กลิ่น มีกลิ่นฉุนมากหรือไม่ ปกติปัสสาวะใหม่ๆ ของคนปกติจะมีกลิ่นอ่อนๆ หากเมื่อไรที่กลิ่นฉุนมาก และเป็นต่อเนื่องหลายวัน ต้องไปพบแพทย์ ถ้าฉุนเพราะกินอาหาร ผ่านไปวันสองวันก็จะหาย
- สี ขาวใส หรือขุ่นเข้ม ปกติตอนเช้าปัสสาวะจะต้องมีสีเข้มนิดหน่อย เพราะกลางคืนดื่มน้ำน้อย พอสายๆ จะใสบ้าง แต่ก็ต้องเหลืองน้อยๆ ถ้าปัสสาวะบ่อยแล้วขาวใสมากทั้งวันทั้งคืน แสดงว่าไตกรองของเสียออกไม่ได้ ออกแต่น้ำ ผู้ป่วยโรคไตที่มาหาเราที่คลินิกท่านหนึ่งก็เป็นเช่นนี้ ปัสสาวะวันหนึ่งหลายสิบครั้ง กลางคืน 4-5 ครั้ง ใสอย่างเดียว ไม่มีสีอะไรเลย พอตรวจค่าของเสียในไตในเลือดสูงถึง 7 ดังนั้น ตลอดเวลาที่เขายังมีชีวิตอยู่จะไม่มีอาการบวมที่ตัว ที่ขามากนัก จะมีบ้างก็บวมที่เปลือกตาบน

รู้ว่าเป็นโรคไตได้อย่างไร?
- จำนวนครั้งมากหรือน้อย คนปกติกลางวัน 4-8 ครั้ง กลางคืน 1-2 ครั้งถือว่าปกติ ถ้า 10-15 ครั้งขึ้นไป กลางคืนถ้า 3 ครั้งขึ้นไป ต้องหาหมอ เพราะถ้าปัสสาวะบ่อยครั้ง สะท้อนถึงว่าหน่วยกรองไตได้รับความเสียหาย โดยปกติแล้วเมื่อหน่วยไตกรองออกมา ท่อไตจะจัดแบ่ง ดูดเก็บของดีกลับคืนไป ส่วนของเสียจะส่งเข้าสู่กรวยไตให้ส่งต่อไปยังกระเพาะปัสสาวะ แต่เมื่อหน่วยไตเสียหาย ที่ควรเก็บ เก็บไม่หมด ที่ควรขับ ขับไม่หมด กลางคืนควบคุมปัสสาวะไม่อยู่ หรือกระทั่งกลางวัน จึงปัสสาวะบ่อย บางคนต่อมลูกหมากโตจะมีอาการปัสสาวะออกยาก ปัสสาวะขัง ดันขึ้นบน ย้อนไปขังที่ไต ทำให้ไตอักเสบได้ หรือผู้ที่อั้นปัสสาวะบ่อยๆ ปัสสาวะขังดันขึ้นที่ไต ก็ทำให้ไตอักเสบได้เช่นกัน
- ปัสสาวะปริมาณมากหรือน้อย ปกติปัสสาวะแต่ละวันต้องมีประมาณวันละ 1500 ซีซี ดื่มน้ำเท่าไรควรออกมาเท่านั้น ดังนั้น วันหนึ่งต้องมีปัสสาวะไม่ต่ำกว่า 400 ซีซี จึงจะสามารถขับพิษที่ร่างกายไม่ต้องการออกไปจากร่างกายได้
- แต่ผู้ป่วยบางคนจะมีปัสสาวะมาก ปัสสาวะบ่อย - มีฟองหรือไม่ ถ้ามีฟองมักจะมีโปรตีนรั่ว หน่วยไตเสียหายทำให้ดูดกลับโปรตีนไม่หมด ทำให้ปัสสาวะเป็นฟองเยอะ
- ปัสสาวะมีเม็ดเลือดแดง อาจมาจากไตอักเสบ นิ่วในไต เนื้องอกในไต กระเพาะปัสสาวะอักเสบเฉียบพลัน หรือให้เลือดผิด เม็ดเลือดแตก อุดตันหน่วยไตและท่อไต

2.ปวดเอว เอวที่ว่านี้อยู่ที่ 'เขตไต' เขตไตอยู่ที่ไหนให้คุณเอามือทั้งสองข้างเท้าสีข้าง ให้นิ้วโป้งอยู่ด้านหน้า 4 นิ้วอยู่ด้านหลัง ยกแขนขึ้นให้สูงที่สุดเท่าที่จะยกได้ ตรงนั้นแหละคือเขตไต ผู้ป่วยโรคไตจะปวดเมื่อยที่นั่น เวลาให้กำปั้นหลวมๆ ทุบเบาๆ จะรู้สึกเจ็บ
สำหรับปวดเอวบริเวณเข็มขัดนั้น ส่วนมากจะมาจากการทำงานมาก นั่งมาก ยกของหนักมาก แผนจีนจะมองว่าเกิดจากไตอ่อนแอ ทำให้ปวดเอวได้ง่าย ปวดเอวเช่นนี้ใช้ยาจีนบำรุงไตได้ผลดี ซึ่งหมอจีนเองต้องจำแนกกับโรคไตให้ดี

3.บวม เริ่มแรกจะชอบบวมที่เปลือกตาบนจากน้อยๆ จนค่อยๆ มากขึ้นตามความหนักหน่วงของหน่วยไตที่ถูกทำลาย มักจะบวมตอนตื่นนอนเช้า จากนั้นค่อยบวมไปที่ข้อเท้า มาที่ขาท่อนล่าง แล้วค่อยลามไปทั่วตัวตามความหนักของโรค แต่บางคนที่มีปัสสาวะมากจะไม่ค่อยบวมมากนัก แค่บวมพอให้มองเห็นว่าเปลือกตาบนและข้อเท้าบวม

รู้ว่าเป็นโรคไตได้อย่างไร?
โลหิตจาง บางครั้งเราจะมองข้ามเรื่องโลหิตจาง มักจะคิดว่าเกิดจากเม็ดเลือดแดงน้อย ลืมคิดถึงเรื่องโลหิตจางจากโรคไต ผู้เขียนจำได้ไม่ลืมในสมัยเรียนหมอที่เซี่ยงไฮ้ มีผู้ป่วยหญิงท่านหนึ่งโลหิตจางมารักษาที่โรงพยาบาลที่กำลังฝึกงานอยู่ ปกติจะมาที่ โอ พี ดีเป็นประจำ โดยคุณหมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคโลหิตจาง ให้กินยาบำรุงเลือดมาตลอดเป็นเวลาหลายปี วันหนึ่งสามีเธอพามาโรงพยาบาลอย่างกะทันหัน ด้วยอาการเวียนศีรษะ อาเจียน หมดสติ รักษาอยู่โรงพยาบาล 7 วัน เธอก็เสียชีวิต ก่อนจะสิ้นลม ลมหายใจของเธอมีกลิ่นฉุนปัสสาวะมาก อาจารย์บอกว่านี่คือไตวายจากปัสสาวะเป็นพิษ จากเรื่องนี้ทำให้คิดอยู่เสมอว่า ผู้ที่โลหิตจาง ซีดเซียว ควรต้องตรวจการทำงานของไตอยู่เป็นประจำ
ผู้เขียนเคยรักษาผู้ที่ค่าของไตสูง ประมาณ 2 กว่าๆ แล้วเอาลงมาจนปกติได้ มีบางคน 4 กว่า ลงมาถึง 2 แต่เข้าใจว่าโรคไตไม่อาจกลับไปเหมือนเดิม ไม่หายขาด หากไม่รักษาต่อเนื่อง ขาดช่วง หรือกินอาหาร ใช้ชีวิตไม่ระวัง โรคก็เดินหน้า เร็วขึ้นหรือช้าขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยเองด้วย โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ผู้ป่วยโรคไตจะกินอาหารได้จำกัดมาก

5.ปัสสาวะมีโปรตีนรั่ว ในคนปกติมีโปรตีนในปัสสาวะเพียงเล็กน้อย จึงตรวจไม่พบ แต่หากตรวจพบมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ คือความผิดปกติ ที่เกิดจากโรคและเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางสรีระ โดยทั่วไปหากมีโปรตีนในปัสสาวะมักจะเป็นข้อบ่งชี้ว่าเกิด 'โรคไต' ขึ้นแล้ว ต้องตรวจเพิ่มให้ละเอียด และทำการรักษาแต่เนิ่นๆ
แต่ก็มีที่เกิดจากสรีระธรรมดา ชั่วคราว เล็กน้อย ไม่ใช่เพราะเป็นโรค เช่น เป็นไข้ หรือออกกำลังกายหนักหรือทำงานหนัก ทำงานท่ามกลางอุณหภูมิสูง อยู่ท่ามกลางอากาศหนาวจัด อารมณ์ผันผวนมาก ทำให้ประสาทอัตโนมัติสับสน การไหลเวียนของเลือดในไตเกิดการเปลี่ยนแปลง
 
 
ขอบคุณข้อมูลจาก  : สสส