ภาวะทางจิตใจที่ทำให้เกิดโรคทางกายที่พบบ่อย | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

ภาวะทางจิตใจที่ทำให้เกิดโรคทางกายที่พบบ่อย

Date : 3 August 2016

ผู้แต่ง: ผศ. นพ. ปราโมทย์ สุดคนิชย์ (คณะแพทย์ศาสตร์ รามาธิบดี)
ข้อมูลจาก : หนังสือจิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี
ภาพจาก : pixabay.com

โรคภาวะทางจิตใจสามารถทำให้เกิดโรคทางกายได้หลายชนิดมักผ่านการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติและฮอร์โมน โรคทางกายที่พบบ่อยได้แก่

1. ปวดศีรษะ ถือเป็นอาการที่พบบ่อยมากที่สุดอาการหนึ่ง เนื่องมาจากมีสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนี้ได้มากมาย แต่การตรวจร่างกายแล้วพบสาเหตุนั้น กลับพบไม่บ่อย ซึ่งทำให้ทั้งแพทย์และผู้ป่วยไม่สบายใจ เชื่อว่าสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอารมณ์และความเครียด เช่น ภาวะวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า มากระตุ้นให้เกิดอาการขึ้น

อย่างไรก็ตาม อาการปวดศีรษะนี้ นอกจากจะเป็นการแสดงออกของอารมณ์ภายในแล้ว ยังอาจมาจากความเชื่อแบบหลงผิด (delusion) หรือเป็นการสื่อให้บุคคลภายนอกรอบตัวผู้ป่วยให้ความสนใจกับผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งแพทย์ควรให้ความสนใจกับผลของอาการนี้ต่อชีวิตทั่วไปของผู้ป่วยและครอบครัวด้วย

ชนิดของโรคปวดศีรษะที่สัมพันธ์กับจิตใจคือ

1.1. ไมเกรน มีปัจจัยทางพันธุกรรมมาเกี่ยวข้องด้วยกว่า 2 ใน 3ของผู้ป่วยและมักพบในผู้มีอาการมีบุคลิกภาพแบบพยายามควบคุมทุกอย่างในชีวิตให้ดี มีระเบียบ ไม่แสดงความโกรธ แต่ไม่พบว่าจะมีเหตุการณ์ใดที่เจาะจงให้เกิดอาการนี้ อาศัยการรักษาด้วยยาเพื่อควบคุมอาการ และใช้จิตบำบัดเพื่อแก้ไขบุคลิกดังกล่าวในระยะยาว

1.2. ปวดศรีษะจากความตึงเครียด (Tension headache) ส่วนใหญ่มีอาการในช่วงบ่ายหรือเย็นหลังการงานที่ทำให้เครียด หรือบางรายก็มีปัญหากับครอบครัว โรคทางจิตเวชเกือบทุกโรคทำให้เกิดอาการชนิดนี้ได้ โดยเฉพาะกับผู้ที่จริงจังและแข่งขัน ควรค้นหาว่ามีโรคทางจิตเวชหรือไม่ โดยถามถึงอาการร่วมอื่นๆ อาจให้ยาคลายกังวล ในระยะยาว นอกจากนี้ การฝึกผ่อนคลาย การทำจิตบำบัดจะช่วยป้องกันอาการเป็นซ้ำได้

2. โรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน มีข้อสังเกตมานานแล้วว่า เมื่อบุคคลมีความเครียด จะเกิดการเจ็บป่วยได้ง่ายและบ่อยขึ้นจากโรคต่างๆ ไม่ว่าโรคติดเชื้อหรือโรคภูมิแพ้ ปัจจุบันจึงมีการศึกษาทางการแพทย์ในเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนมากขึ้น แม้การศึกษาจะไม่บ่งชี้ชัดนักในแง่การวัดปริมาณเม็ดเลือดหรือสารภูมิคุ้มกัน เช่น มีเส้นใยประสาทในไขกระดูกหรือต่อมไทมัสหรือหากไฮโปทาลามัส ถูกทำลายจะทำให้ปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่างไปจากเดิม

นอกจากนี้ การทำงานของเม็ดเลือดขาว ก็ขึ้นกับสื่อประสาทและฮอร์โมนหลายชนิด หรือโรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันบางอย่าง รวมทั้งผู้ป่วยเอดส์ มีอาการรุนแรงมากน้อยตามความเครียด มีผู้พบว่าผู้ป่วยวัณโรคที่ได้รับการช่วยเหลือทางจิตใจจะฟื้นตัวได้ดียิ่งขึ้น

3. ปวดหลัง เช่นเดียวกับอาการปวดศีรษะ กว่าร้อยละ 95 ของผู้มีอาการปวดหลังไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติที่ชัดเจนได้ นอกจากนั้น พบว่าผู้มีอาการนี้ไม่น้อยมีความกังวลหรือซึมเศร้าร่วมอยู่ด้วย การรักษาจึงอาจให้ยารักษาภาวะดังกล่าวร่วมกับยาแก้ปวด รวมทั้งให้คำแนะนำ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และสนับสนุนให้กลับไปทำหน้าที่เดิม

4. ไขข้ออักเสบรูมาตอยด์ มีผู้สนใจในบุคลิกภาพของผู้ป่วยด้วยโรคนี้ว่า มักมีลักษณะเสียสละ ทำตนให้ลำบาก อดกลั้น และต้องพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด โดยไม่แสดงความรู้สึก และมีบางรายพบว่า อาการกำเริบตามความเครียดทางจิตใจ ผู้ป่วยเหล่านี้มีโอกาสเกิดความซึมเศร้าอันเป็นผลมาจากความพิการจากโรคได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

5. โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจขาดเลือด เกิดอาการได้เสมอหากผู้ป่วยเกิดความเครียดหรือโกรธ มีผู้เสนอว่า ผู้ที่ป่วยโรคเหล่านี้มักมีบุคลิกภาพที่แข่งขัน รุนแรง ทะเยอทะยาน ไขว่คว้า แต่อารมณ์ฉุนเฉียว โดยจะพบระดับโปรตีนในเลือด, คลอเลสสเตอรอล หรือไตรกลีเซอไรด์ ในเลือดสูงด้วย จนเสี่ยงต่อภาวะดังกล่าว

โรคความดันโลหิตสูงที่ไม่ทราบสาเหตุ คนเหล่านี้มักมีท่าทีเป็นมิตร เชื่อฟังเคร่งครัดตามกฎ และเก็บงำความโกรธไว้ไม่แสดงออก ร่วมกับมีประวัติครอบครัวของการป่วยโรคนี้

การรักษาของทั้ง 2 โรค ได้แก่ การทำจิตบำบัดเพื่อเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต แนวคิดมุ่งหวัง ให้รู้จักผ่อนคลาย ทำเทคนิคคลายเครียดอย่างมีหลักการ ร่วมกับการใช้ยาควบคุมโรคดังกล่าวโดยตรง

6. โรคระบบทางเดินอาหาร โรคแผลในกระเพาะอาหารและอาการท้องอืด เป็นที่ยอมรับมานานแล้วว่า อาการและโรคนี้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับโรควิตกกังวลเรื้อรัง โดยเฉพาะแผลในกระเพาะอาหารมากกว่าแผลในลำไส้เล็กมีการศึกษาด้วยว่า ความกังวลทำให้มีการเคลื่อนไหวบีบตัวของกระเพาะอาหารผิดปกติ ร่วมกับรายงานที่ว่า เมื่อบุคคลต้องเผชิญกับเหตุการณ์เครียดที่รุนแรง เช่น การสูญเสียคนใกล้ชิด จะมีอาการท้องอืดมากกว่าคนทั่วไป การรักษาด้วยยารักษาโรคกระเพาะเท่านั้น จึงอาจไม่เพียงพอในการรักษาหรือป้องกันในระยะยาว การฝึกผ่อนคลาย การแก้ปัญหา และจิตบำบัดร่วมไปด้วย จะทำให้ผู้ป่วยปลอดจากอากรดังกล่าวได้นานกว่าผ็รับประทานยารักษาโรคกระเพาะเพียงอย่างเดียว

ภาวะกลุ่มอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย (Irritable bowel syndrome) มักมีอาการทองผูกสลับท้องเสีย ปวดท้องมีลมในทางเดินอาหารมากอย่างเรื้อรัง โดยไม่สัมพันธ์กับชนิดของมื้ออาหาร หรือการติดเชื้อ หรือการใช้ยา ในสหรัฐอเมริกา พบว่าผู้ไปพบแพทย์ระบบทางเดินอาหารมากกว่าร้อยละ 50 มีอาการนี้ และกว่าร้อยละ 32 มีสมาธิในครอบครัวที่มีอาการนี้เช่นกัน การทดสอบด้วยแบบทดสอบทางจิตวิทยาพบว่า ผู้ป่วยจะมีความกังวล ขาดความเชื่อมั่น โทษตนเอง และอาจบอกอาการเจ็บป่วยอื่นๆ อีกคล้ายในโรคความผิดปกติทางจิตใจที่แสดงอาการออกทางร่างกาย (กลุ่ม somatization disorder) และเมื่อมีความเครียด ผู้ป่วยจะเกิดอาการมากขึ้น คนรอบข้างจะให้ความสนใจผู้ป่วยมากขึ้นด้วย การรักษาจึงต้องอาศัยหลายวิธี ทั้งการใช้ยารักษาอาการท้องผูก ท้องเสีย การควบคุมชนิดของอาหาร การฝึกผ่อนคลาย การทำจิตบำบัด ให้ให้ยาต้านเศร้า กลุ่ม tricyclic ร่วมกับการเปลี่ยนการสนองต่อการของครอบครัวของผู้ป่วยด้วย

7. อาการของระบบทางเดินหายใจ ที่พบบ่อยมากในห้องฉุกเฉินของทุกโรงพยาบาล คืออาการของระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่ง (hyperventilation syndrome) ที่มีอาการคล้ายหอบหืด โดยผู้ป่วยจะมีอาการหายใจหอบเร็ว หัวใจเต้นแรง บ่นแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก มือเท้าชา เกร็ง บางรายจะมีนิ้วมือจีบร่วมด้วย
โรคหอบหืด แม้ว่าจะมีการพิสูจน์แล้วว่าอาการของโรคเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันแต่มีข้อสังเกตว่า ผู้ป่วยมักมีลักษณะเก็บความโกรธ ไม่สามารถแสดงความอยากพึ่งพิงผู้อื่นออกได้ และอารมณ์ดังกล่าวถูกส่งผ่านระบบประสาทอัตโนมัติและระบบภูมิคุ้มกันจนเกิดอาการ ดังนั้น เมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการเป็นประจำ การมองหาปัจจัยทางจิตใจและแก้ไขนอกเหนือไปจากการให้ยาขยายหลอดลม อาจช่วยให้อาการของโรคดีขึ้น

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสภาพจิตใจกับการเกิดมะเร็งนั้น ยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัดว่าเป็นเหตุและผลต่อกันได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีปัจจัยอื่นอีกหลายประการที่เข้ามามีบทบาทในการเกิดมะเร็ง เช่น พันธุกรรม การใช้ชีวิต การได้เผชิญกับสารต่างๆ ตลอดจนภาวะภูมิคุ้มกันของบุคคลนั้นๆ อย่างไรก็ตาม พบว่าสภาพจิตใจมีผลต่อการดำเนินโรคของมะเร็งอยู่ไม่น้อย

จะเห็นได้ว่า โรคทางกายที่เป็นผลจากจิตใจดังกล่าว แม้จะมีพยาธิสภาพทางกายหรือพยาธิสรีระที่เกิดขึ้นจริง แต่การใช้ยารักษาอาการทางกายโดยไม่สนใจสภาพจิตใจ จะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาด้อยลง ดังนั้นจึงควรคำนึงถึงการรักษาด้านจิตสังคม การเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของผู้ป่วยควบคู่ไปด้วย