วัคซีนงูสวัด | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

วัคซีนงูสวัด

Date : 28 September 2016

ข้อมูลจาก : ผศ.ดร.ภก. กฤษณ์ ถิรพันธุ์เมธี ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพจาก : pixabay.com

งูสวัด (Shingles; Herpes zoster) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Varicella Zoster Virus (VZV) เชื้อนี้เป็นไวรัสชนิดเดียวกับเชื้อก่อโรคอีสุกอีใส ซึ่งแพร่กระจายโดยการสัมผัสโดยตรง เช่น การสัมผัสกับแผลของผู้ป่วย โดยผู้ที่ได้รับเชื้อนี้ครั้งแรกจะเกิดโรคอีสุกอีใส (Varicella; Chickenpox) เมื่อหายจากโรค เชื้อนี้ยังไม่หมดไปจากร่างกายแต่จะไปหลบอยู่ที่บริเวณปมประสาทจนเมื่อผู้ติดเชื้อมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง เช่น การเจ็บป่วยหรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง เชื้อนี้ก็จะถูกกระตุ้นให้ออกจากปมประสาทมาก่อโรคบริเวณผิวหนังที่ปลายประสาทมาเลี้ยง โดยจะเกิดเป็นตุ่มน้ำใส มีอาการปวดแสบปวดร้อน ตุ่มน้ำใสนี้จะคงอยู่ประมาณ 5 วัน จากนั้นจะตกสะเก็ดและหายไปภายใน 2-3 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนทางระบบประสาทเกิดขึ้นได้ อาการแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุด คือ อาการปวดเส้นประสาท (Postherpetic neuralgia) พบได้ถึงร้อยละ 40-44 (1, 2) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแปลบบริเวณที่เกิดตุ่มน้ำใสหลังจากที่ตุ่มน้ำใสหายไปแล้ว อาการปวดนี้จะคงอยู่หลายเดือน หรือถ้าเชื้อเข้าสู่ตาอาจทำให้ตาบอดได้ อาการแทรกซ้อนที่สำคัญอีกอย่าง คือ การที่เชื้อเคลื่อนออกจากปมประสาทเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดสมองอักเสบ (VZV encephalitis) อาการส่วนมากจะเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ซึ่งถ้าทำการรักษาไม่ทันอาจทำให้เสียชีวิตได้ 

มีรายงานว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาว่าผู้ติดเชื้อไวรัสงูสวัด 1 ล้านรายต่อปี ครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีอาการงูสวัดมีอายุมากกว่า 60 ปี และใช้เงินในการรักษาสูงถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่วนมากเป็นค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องที่มีอายุมากกว่า 50 ปี (3) จากการที่ความเสี่ยงของการเกิดงูสวัดจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ และมีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2030 จะมีผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีสูงถึง 72 ล้านคน ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่งูสวัดจะมีอาการไม่รุนแรงแต่เมื่อเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้นมาอาจทำให้ผู้ป่วยตาบอดหรือเสียชีวิตได้ การป้องกันการเกิดงูสวัดสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีน ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ VZV 2 ประเภทคือ วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส และ วัคซีนป้องกันงูสวัด ถึงแม้วัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้จะป้องกันการติดเชื้อเดียวกัน แต่ไม่สามารถนำมาใช้แทนกันได้ วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส (Varicella vaccine) ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1995 จะทำการฉีดเข็มแรกเมื่อเด็กอายุ 1 ปี และเข็มที่ 2 เมื่ออายุ 4-6 ปี ส่วนวัคซีนป้องกันงูสวัดได้รับการยอมรับให้ใช้ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 2006 (4) ผู้ที่ได้รับคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ ได้แก่ ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีทั้งที่มีประวัติเคยเป็นอีสุกอีใสและไม่เคยเป็นอีสุกอีใส ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นงูสวัดแบบเป็นๆหายๆ ก็สามารถฉีดวัคซีนนี้ได้เพื่อป้องกันการเกิดงูสวัดในอนาคต แต่ต้องแน่ใจว่าไม่ได้มีอาการของงูสวัดในวันที่ได้รับวัคซีน วัคซีนนี้มีผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ 5 ปี จากการศึกษาพบว่าวัคซีนนี้ลดความเสี่ยงในการเกิดงูสวัดได้ร้อยละ 51 และลดความเสี่ยงในการเกิด postherpetic neuralgia ได้ร้อยละ 67 เมื่อเทียบกับผู้ที่เป็นงูสวัดแต่ไม่ได้รับวัคซีน สำหรับประเทศไทย ทางราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยได้ทำการแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันงูสวัดไว้เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น (5) 

อย่างไรก็ตาม มีข้อห้ามห้ามให้วัคซีนป้องกันงูสวัดแก่บุคคลเหล่านี้ คือ

  1. ผู้ที่แพ้เจลาติน หรือยานีโอมัยซิน หรือแพ้ส่วนประกอบต่างๆของวัคซีน
  2. ผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องจากสาเหตุต่างๆ เช่น ติดเชื้อ HIV หรือโรคที่มีผลกับระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยรังสีหรือผู้ป่วยมะเร็งเกี่ยวกับไขกระดูกหรือระบบน้ำเหลือง
  3. หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่ได้รับวัคซีนงูสวัดหากต้องการตั้งครรภ์ ควรห่างจากวันที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 4 สัปดาห์

ส่วนผู้ที่เป็นไข้หรือป่วยควรรอให้หายดีก่อนได้รับวัคซีน 

เอกสารอ้างอิง

  1. Gilden DH, Cohrs RJ, Mahalingam R. Clinical and molecular pathogenesis of varicella virus infection. Viral Immunol. 2003; 16(3): 243-58.
  2. Gilden DH, Nagel M, Cohrs RJ, Mahalingam R, Baird N. Varicella zoster virus in the nervous system. F1000Res. 2015;4. pii: F1000 Faculty Rev-1356.
  3. Yawn BP, Itzler RF, Wollan PC, Pellissier JM, Sy LS, Saddier P. Health care utilization and cost burden of herpes zoster in a community population. Mayo Clin Proc. 2009; 84(9): 787-94.
  4. http://www.cdc.gov/vaccines/vpd-vac/shingles/vacc-need-know.htm
  5. http://www.rcpt.org/index.php/2012-10-03-16-53-39/category/6-2013-02-02-09-02-52.html