ข้อมูลจาก : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์
ภาพจาก : pixabay.com
โรคที่เกิดกับผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปพบได้หลากหลายและเสี่ยงต่อการเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น โรคงูสวัดที่แฝงด้วยภัยร้ายทำให้ผู้สูงอายุต้องเผชิญความเจ็บปวดทรมานและอาการแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
โดยโรคดังกล่าวเกิดจากเชื้อไวรัสอีสุกอีใสที่หลบซ่อนในปมประสาทใต้ผิวหนังหลังจากมีการติดเชื้อชนิดนี้ครั้งแรก โดยเชื้อไวรัสจะแฝงตัวอยู่หลายสิบปี จนเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำโดยเฉพาะจากการที่อายุมากขึ้นเชื้อที่แฝงตัวอยู่จะกระจายตัวตามปมประสาท ทำให้เส้นประสาทถูกทำลายและจะแสดงอาการออกมาเป็นผื่นแดงและตุ่มน้ำใสๆ เรียงตัวเป็นกลุ่มตามแนวเส้นประสาท
พญ.อรพิชญา ไกรฤทธิ์ หน่วยเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ผู้ป่วยจะต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการที่ตามมา นั่นคืออาการปวดแสบปวดร้อนตรงบริเวณผิวหนัง แม้บางครั้งถูกสัมผัสเพียงเบาๆ ผู้สูงอายุที่เป็นโรคนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง อายุมากยิ่งเป็นรุนแรงและนานขึ้น เช่น อาการปวดตามแนวเส้นประสาทเรื้อรังแม้ผื่นได้รับการรักษาจนหายแล้ว หรือ Post Herpetic Neuralgia (PHN) ซึ่งมักมีอาการปวดลึกๆ เรื้อรังเป็นเวลานานซึ่งอาจเป็นปีได้และอาจมีไข้ร่วม
“นอกจากนี้ ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ อาจเกิดขึ้นบริเวณดวงตา บางรายอาจรุนแรงจนทำให้ตาบอด หรือขึ้นบริเวณหูด้านนอกหรือแก้วหูอาจทำให้ใบหน้าซีกนั้นๆ เกิดอัมพาต ปากเบี้ยว หรือไม่สามารถหลับตาข้างนั้นให้สนิทได้ หากติดเชื้องูสวัดชนิดแพร่กระจายออกนอกแนวเส้นประสาท เชื้อไวรัสอาจกระจายเข้าสู่สมองและอวัยวะภายในอื่นๆ เช่น ตับ ปอด หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ความรุนแรงและการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสงูสวัดยิ่งทวีคูณตามอายุ”
สำหรับแนวทางการป้องกัน พญ.อรพิชญา กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญมากและควรเริ่มจากการเข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งพบว่าสามารถลดความเสี่ยงของโรคได้ 70% ในผู้มีอายุระหว่าง 50-59 ปี และ 50% ในผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งช่วยลดอุบัติการณ์ของอาการปวดตามแนวเส้นประสาทเรื้อรังได้อีก นอกจากการฉีดวัคซีนแล้วผู้สูงอายุสามารถลดความเสี่ยงการเป็นโรคนี้ด้วยการรักษาสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน เช่น การล้างมือให้สะอาด หมั่นรักษาความสะอาดของใช้ส่วนตัว หลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมชนแออัด อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี และรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ