เป็นโรคแพ้อากาศ....ใช้ยาอะไรดี | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

เป็นโรคแพ้อากาศ....ใช้ยาอะไรดี

Date : 9 November 2016

ข้อมูลจาก : รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

โรคแพ้อากาศ หรือจมูกอักเสบภูมิแพ้ เป็นโรคที่เกิดจากเยื่อบุจมูกมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากผิดปกติ  ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้   มักจะมีอาการ เป็นๆ หายๆ  การใช้ยารักษาโรคแพ้อากาศ เป็นการรักษาที่ทำให้การอักเสบในเยื่อบุจมูกลดน้อยลง ทำให้อาการคัน, จาม, คัดจมูก, น้ำมูกไหล หรือมีเสมหะลงคอลดน้อยลง แต่การรักษาดังกล่าวเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ บางครั้งผู้ป่วยไม่สามารถลดหรือหลีกเลี่ยงเหตุที่ทำให้มีอาการได้ ก็อาจจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการต่างๆทางจมูก          

การเลือกใช้ยาในการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ขึ้นอยู่กับชนิด และความรุนแรงของโรค นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ว่ามีอาการอะไรเด่น และพิจารณาเลือกใช้ยาที่มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการนั้นๆ

แนวทางการแบ่งชนิด และความรุนแรงของโรคภูมิแพ้ทางจมูก  

คณะทำงานขององค์การอนามัยโลก ได้เสนอการแบ่งชนิดของโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ออกเป็น 2 ชนิดคือ

1.  Intermittent  หมายถึง ผู้ป่วยมีอาการเป็นช่วงๆโดยมีอาการน้อยกว่า 4 วันต่อสัปดาห์ หรือมีอาการติดต่อกันน้อยกว่า 4 สัปดาห์

2.  Persistent  หมายถึง ผู้ป่วยมีอาการคงที่ โดยมีอาการมากกว่า 4 วัน ต่อสัปดาห์ และมีอาการติดต่อกันนานกว่า 4 สัปดาห์

นอกจากนั้น องค์การอนามัยโลกได้เสนอให้ใช้อาการทางคลินิก ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย แบ่งความรุนแรงของโรคออกเป็น 2 ระดับคือ อาการน้อย (mild) และ อาการปานกลางถึงมาก (moderate to severe)

นอกจากนั้นการเลือกใช้ยายังขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ว่ามีอาการอะไรเด่น และพิจารณาเลือกใช้ยาที่มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการนั้นๆ เช่น

1. ยาต้านฮิสทามีน (antihistamines) ใช้ได้ผลดีในการบรรเทาอาการที่เกิดจากฮิสทามีนเช่น คัน,จาม, น้ำมูกไหล,คัน เคืองตา แต่ได้ผลน้อยกับอาการคัดจมูก  

2. ยาหดหลอดเลือด (decongestant) ใช้เพื่อลดอาการคัดจมูกเป็นหลัก   มีทั้งชนิดพ่น/หยอดจมูก  และชนิดกิน  ยาชนิดพ่น/หยอดจมูก ออกฤทธิ์ได้เร็วกว่าชนิดกิน คือออกฤทธิ์ได้ภายใน 5-10 นาทีหลังพ่น/หยอดยา  ข้อเสียที่พบในชนิดพ่น/หยอดจมูกคือ การใช้ต่อเนื่องนานเกิน 5 วัน อาจทำให้เกิดอาการกลับมาคัดแน่นจมูกมากขึ้นหลังหยุดยาตามมาได้ นอกจากนั้น อาจทำให้ระคายเคืองจมูก และทำให้มีน้ำมูกเพิ่มขึ้นได้  แต่สามารถให้ยาชนิดพ่น/หยอดจมูก ได้เป็นระยะเวลาสั้นๆ ในผู้ป่วยที่มีอาการคัดจมูกมาก ยาชนิดกินออกฤทธิ์ภายใน 30 นาทีหลังกิน ไม่ทำให้เกิดอาการกลับมาคัดแน่นจมูกมากขึ้นหลังหยุดยา แต่ฤทธิ์ลดอาการคัดจมูกจะน้อยกว่าชนิดพ่น/หยอดจมูก ควรใช้ยาหดหลอดเลือดชนิดกิน อย่างระมัดระวัง เนื่องจากอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้คือ กระสับกระส่าย, หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ, เวียนศีรษะ, ปวดหัว, มือสั่น, นอนไม่หลับ  นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาหดหลอดเลือดชนิดกิน ในผู้ป่วยที่เป็นต้อหิน, ต่อมลูกหมากโต, ไทรอยด์เป็นพิษ, ความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, หญิงตั้งครรภ์, ผู้ป่วยมีปัญหาทางจิต, ผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี และมากกว่า 60 ปี

ปัจจุบันยังมียาต้านฮิสทามีนผสมกับยาหดหลอดเลือด (antihistamines + decongestants) ด้วย จุดประสงค์ของการผสมยาทั้ง 2 ชนิดเข้าด้วยกัน คือ ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งยาต้านฮิสทามีนมีฤทธิ์ดังกล่าวน้อย นอกจากนั้น ถ้ายาต้านฮิสทามีนเป็นชนิดที่ทำให้ง่วง ยาหดหลอดเลือดที่ผสมกันอาจช่วยลดอาการง่วงได้  ยาผสมชนิดนี้สามารถให้ได้ ถ้าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มีอาการคัน, จาม, น้ำมูกไหล ร่วมกับอาการคัดจมูก ข้อดีคือไม่ต้องสั่งยาให้ผู้ป่วยถึง 2 ชนิด (คือ ยาต้านฮิสทามีนและ ยาหดหลอดเลือด) ซึ่งจะเพิ่มความร่วมมือของผู้ป่วยในการกิน  แต่ไม่แนะนำให้ใช้ต่อเนื่องเป็นประจำ เนื่องจากอาจมีผลที่ไม่พึงประสงค์ของยาหดหลอดเลือดได้

3. ยาสเตียรอยด์ (corticosteroids)  สามารถให้ได้ทั้งชนิดพ่นจมูก (nasal corticosteroids)  และชนิดกิน (oral corticosteroids)          

3.1) ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก เป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้  โดยสามารถลดอาการทางจมูกได้ทุกอาการ ได้แก่ อาการคันจมูก, จาม, น้ำมูกไหล และคัดแน่นจมูก และลดอาการทางตาได้ด้วย  นอกจากนั้นสามารถใช้เพื่อป้องกันอาการดังกล่าวได้ด้วย แนะนำให้ใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกเป็นลำดับแรกในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่มีอาการคัดจมูกเด่น เนื่องจากยาสเตียรอยด์พ่นจมูกออกฤทธิ์ลดการอักเสบจากภูมิแพ้โดยมีผลต่อการสังเคราะห์โปรตีนของเซลล์ ดังนั้นยาจะเริ่มออกฤทธิ์ช้าประมาณ 7-8 ชม. และยาจะมีประสิทธิผลเต็มที่หลังจากใช้ยาอย่างสม่ำเสมอนาน 1-2 สัปดาห์  อย่างไรก็ดีในผู้ป่วยบางราย  ยาอาจเริ่มออกฤทธิ์เร็วกว่านี้ คือภายใน 2 ชม. หลังพ่นยา ทำให้การใช้ยาเฉพาะเวลามีอาการก็ยังให้ผลการรักษาที่ดีในผู้ป่วยบางราย  แต่ประสิทธิภาพอาจไม่ดีเท่าการใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ    ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกจะออกฤทธิ์เฉพาะที่สูง โดยมีความเข้มข้นของยาสูงที่เยื่อบุจมูก  และมีการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดต่ำมาก จึงมีผลข้างเคียงน้อย  การใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกโดยทั่วไปในขนาดแนะนำไม่พบผลข้างเคียงทั่วร่างกายชัดเจน และมีความปลอดภัยสูง  ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกอาจเกิดผลข้างเคียงเฉพาะที่ได้ เช่น จาม, แสบร้อน, เกิดสะเก็ดในโพรงจมูก, จมูกแห้ง, ระคายเยื่อบุจมูกหลังพ่นยา  หรือทำให้เกิดเลือดกำเดาไหลได้ แต่ไม่เกิดเยื่อบุจมูกฝ่อหลังใช้ยาเป็นระยะเวลานานหลายปี

3.2) ยาสเตียรอยด์ชนิดกิน มีข้อบ่งชี้ในการใช้รักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้คือ

1. ในรายที่มีอาการคัดจมูกมาก ซึ่งทำให้การใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกได้ผลไม่ดี  เนื่องจากยาไม่ สามารถเข้าไปในจมูกได้ทั่วถึง หรือมีอาการรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อยาอื่น

2. ในรายที่มีภาวะจมูกไม่ได้กลิ่นร่วมด้วย

3. ในรายที่มีริดสีดวงจมูกเล็กๆ ร่วมด้วย และให้ยาสเตียรอยด์ชนิดกินเพื่อกำจัดริดสีดวงจมูก

4. ในรายที่มีเยื่อบุจมูกอักเสบจากการใช้ยาหดหลอดเลือดชนิดพ่น/หยอดจมูกนานเกินไป

4. Topical anticholinergic drug   เช่น  ipratropium bromide ใช้ลดอาการน้ำมูกไหลเป็นหลัก ไม่มีผลต่ออาการจามหรือคัดจมูก ไม่นิยมใช้เป็นยาอันดับแรก โดยมักใช้เป็นยาทางเลือกในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่มีอาการน้ำมูกไหลเรื้อรังที่ใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกและยาต้านฮิสทามีนแล้วอาการน้ำมูกไหลไม่ดีขึ้น หรือในรายที่อาการสำคัญของผู้ป่วยคือ น้ำมูกไหล   การใช้ยาพ่นนี้ต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดอาการจมูกแห้ง, เลือดกำเดาไหล, อาการปัสสาวะคั่ง, ต้อหินได้ แต่พบได้น้อย 

5. Cromones (sodium cromoglycate, nedocromil) ใช้ได้ผลบ้างในการบรรเทาอาการที่เกิดจากฮิสทามีนเช่น คัน,จาม, น้ำมูกไหล,คัน เป็นยาที่ปลอดภัยและมีผลข้างเคียงน้อย  ในปัจจุบันยานี้ไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย

6. Antileukotrienes ช่วยลดอาการคัดจมูกเป็นหลัก อาจใช้ยาชนิดนี้เสริมในกรณีให้ยาชนิดอื่นๆ ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกแล้ว  แต่อาการไม่ดีขึ้น และเป็นยาที่ใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดร่วมกับโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้