ข้อมูลจาก : รพ.จุฬาภรณ์
มะเร็งหลังโพรงจมูก อีกหนึ่งมะเร็งร้ายที่กลายเป็นภัยเงียบและคร่าชีวิตผู้คนได้ไม่แพ้มะเร็งอื่นๆ เพราะมะเร็งหลังโพรงจมูกเป็นโรคที่อยู่ในตำแหน่งที่ซ่อนเร้น
“มะเร็งหลังโพรงจมูก” แม้ชื่ออาจจะไม่คุ้นหูเหมือนมะเร็งทั่วไปที่เคยได้ยินบ่อยๆ แต่เมื่อขึ้นชื่อว่า “มะเร็ง” ไม่ว่าจะเป็นในส่วนไหนของร่างกาย ก็คงไม่มีใครอยากเผชิญ หรืออยากให้เกิดขึ้นกับตนเองแน่นอน
มะเร็งหลังโพรงจมูก อีกหนึ่งมะเร็งร้ายที่กลายเป็นภัยเงียบและคร่าชีวิตผู้คนได้ไม่แพ้มะเร็งอื่นๆ เพราะมะเร็งหลังโพรงจมูกเป็นโรคที่อยู่ในตำแหน่งที่ซ่อนเร้น ยากแก่การตรวจพบ จึงทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการของระยะที่มะเร็งลุกลามมากแล้ว ทำให้ยากแก่การรักษา ซึ่งในแต่ละปีพบผู้ป่วยทั่วโลกเกือบ 1 ต่อประชากรแสนคน โดยเฉพาะในแถบเอเชียจะพบผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้สูงมาก ได้แก่ จีนตอนใต้ ฮ่องกง ไต้หวันและประเทศไทย ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้น พบอุบัติการณ์ในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิงประมาณสองเท่า โดยส่วนมากอยู่ในวัยหนุ่มสาวถึงกลางคน
สาเหตุของมะเร็งหลังโพรงจมูก ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเพิ่มอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งหลังโพรงจมูก ได้แก่
1. สิ่งแวดล้อมและอาหาร เนื่องจากมะเร็งหลังโพรงจมูกพบบ่อยในประเทศจีนตอนใต้ และชาวเอสกิโมในรัฐอลาสก้า และกรีนแลนด์ ตลอดจนในแถบทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งหลังโพรงจมูกน่าจะเป็นผลจากสิ่งแวดล้อม และอาหาร โดยอาหารที่คนเหล่านี้รับประทานจะคล้ายคลึงกัน คือ ปลาเค็มและเนื้อเค็ม ซึ่งจะมีสารก่อมะเร็งไนโตรซามีน (nitrosamine) ปนเปื้อนอยู่ในสารอาหารเหล่านี้ และเมื่อสูดดมสารนี้เข้าไปสัมผัสกับเยื่อบุของหลังโพรงจมูก อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ DNA ของเซลล์เยื่อบุผิว จนเกิดการกลายพันธุ์ (mutation) ของเซลล์ได้
2. พันธุกรรม ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาของระบาดวิทยา พบว่ามะเร็งหลังโพรงจมูก พบบ่อยในคนจีน โดยเฉพาะในคนจีนตอนใต้ของประเทศ ตลอดจนคนจีนที่อพยพไปตั้งรกรากในประเทศต่างๆ แสดงให้เห็นว่าภาวะทางพันธุกรรมน่าจะมีส่วนในการส่งเสริมให้เกิดมะเร็งหลังโพรงจมูก 3. เชื้อไวรัส Epstein-Barr Virus (EBV) เป็น DNA virus ซึ่งอยู่ในกลุ่มของ Herpes virus พบว่าผู้ป่วยมะเร็งหลังโพรงจมูกมักจะมีประวัติเคยติดเชื้อ EBV และพบเชื้อไวรัสหรือ DNA ของ EBV ในเซลล์มะเร็งของผู้ป่วย ทำให้เชื่อว่าเชื้อไวรัสนี้น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก
“สำรวจตนเอง” มีอาการเหล่านี้หรือไม่
“มีก้อนที่คอ มีเลือดกำเดาไหลเป็นประจำ มองเห็นภาพซ้อน หน้าชาด้านใดด้านหนึ่ง หูอื้อ” อาการดังกล่าวเป็นอาการที่สามารถสังเกตได้ด้วยตนเองว่าเข้าข่ายหรือไม่..? เพราะถ้าหากเกิดอาการดังกล่าวขึ้น อย่านิ่งนอนใจ!! ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ใจ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้มาก่อน เพราะเซลล์มะเร็งอาจลุกลามไปมากจนยากที่จะเยียวยาได้ การรีบรักษาตั้งแต่เป็นระยะแรก จะช่วยให้รักษาได้ทันท่วงที เพิ่มโอกาสในการหายขาดได้
การรักษามะเร็งหลังโพรงจมูก “ด้วยรังสี” กับโรงพยาบาลศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง เนื่องจากหลังโพรงจมูกเป็นตำแหน่งที่อยู่ลึกและล้อมรอบด้วยอวัยวะที่สำคัญ ดังนั้น ก่อนการรักษาแพทย์จะต้องทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด โดยเริ่มจากการตรวจร่างกายทั่วไป ซึ่งหากมีข้อสงสัยว่าเป็นมะเร็ง แพทย์จะทำการส่องกล้องผ่านจมูกเข้าไป และตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อนำมาตรวจวินิจฉัยโรค เมื่อได้ผลการวินิจฉัยแล้ว แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan หรือ MRI), เอกซเรย์ปอด (X-ray), U/S upper abdomen, Bone scan เพื่อประเมินระยะของโรค และเจาะเลือด ทำฟัน เพื่อเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยก่อนการรักษาต่อไป การรักษามะเร็งหลังโพรงจมูกในปัจจุบัน
การผ่าตัดนั้นไม่มีบทบาทในการรักษาโดยตรง เนื่องจากมะเร็งหลังโพรงจมูกมีขอบเขตของรอยโรคใกล้กับอวัยวะที่สำคัญ อาทิเส้นเลือดแดงใหญ่ที่เลี้ยงคอและสมอง ฐานกะโหลกศีรษะ ตลอดจนส่วนของสมองเอง ดังนั้น การรักษาด้วยรังสีจึงถือเป็นการรักษาหลักของมะเร็งหลังโพรงจมูก โดยถ้าเป็นในระยะแรก จะรักษาโดยการฉายรังสีอย่างเดียว แต่ถ้าเป็นระยะลุกลาม การรักษาจะเป็นการฉายรังสีร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด โดยจะนำยาเคมีบำบัดเข้ามาร่วมในการรักษาในรูปแบบต่างๆ คือ การให้ยาเคมีพร้อมกับการฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัดอย่างเดียวหลังการฉายรังสีครบ โดยในส่วนของการฉายรังสีจะฉายติดต่อกันทุกวัน หยุดพักสัปดาห์ละ 2 วัน เพื่อให้เนื้อเยื่อปกติได้มีเวลาฟื้นตัว การรักษาใช้เวลาประมาณ 6-7 สัปดาห์ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ฉายรังสีแล้วสามารถกลับบ้านได้
สำหรับการฉายรังสีมะเร็งหลังโพรงจมูกที่โรงพยาบาลศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง จะใช้เทคนิคพิเศษที่เรียกว่า การฉายรังสีสามมิติแปรความเข้ม หรือที่เรียกว่า IMRT (Intensity - Modulated Radiation Therapy) โดยสามารถปรับความเข้มของรังสีตามสัดส่วนความหนาบางของก้อนมะเร็ง และตามความเหมาะสมของรอยโรค โดยข้อดีของ IMRT คือ การกระจายของรังสีจะสามารถครอบคลุมรอยโรคต่อก้อนที่จำเพาะ และลดปริมาณรังสีต่ออวัยวะปกติบริเวณข้างเคียง เช่น ต่อมน้ำลาย, หูชั้นใน หรือเส้นประสาทตา เป็นการลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็งจะมีการตรวจสอบตำแหน่งของก้อนมะเร็ง (verification) ก่อนการฉายรังสีแต่ละครั้ง ที่เรียกว่า รังสีภาพนำวิถี (Image guided radiation therapy: IGRT) เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการฉายรังสี ให้อยู่ในตำแหน่งที่วางแผนการรักษา จึงมีการตรวจสอบตำแหน่งของก้อนมะเร็งโดยเป็นการถ่ายภาพเอกซเรย์ (On Board Imager -- OBI) หรือการถ่ายภาพเอกซเรย์ คอมพิวเตอร์ (Cone Beam CT) ทำให้มีความแม่นยำในการรักษาโดยการฉายรังสีมากขึ้น
นอกเหนือจากเทคโนโลยีความทันสมัยของเครื่องฉายรังสีที่หน่วยรังสีมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็งแล้ว ทางหน่วยรังสีมะเร็งวิทยา ยังมีการนำความก้าวหน้าของการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม คือ การนำ PET/CT scan มาใช้ในการกำหนดขอบเขตของก้อนเนื้องอก จากความก้าวหน้าของขั้นตอนการวางแผนการฉายรังสี ทำให้แพทย์รังสีรักษามีการนำภาพ PET/CT scan มาใช้ร่วมกับภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อประกอบการกำหนดขอบเขตของก้อนเนื้องอกให้แม่นยำได้มากยิ่งขึ้น
มะเร็งหลังโพรงจมูก ยิ่งตรวจพบเร็วเท่าใด ก็ยิ่งรักษาให้หายเร็วและหายขาดเท่านั้น เพราะฉะนั้น อย่านิ่งนอนใจกับอาการเตือนต่างๆ หมั่นตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยส่งเสริมที่อาจเป็นสาเหตุของมะเร็งหลังโพรงจมูก เช่น อาหารปิ้ง ย่าง รมควัน อาหารหมักดอง ควันเขม่าพิษ สารระเหยต่างๆ รวมทั้งควรงดดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ ตลอดจนหากมีอาการเตือนดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอย่างไรแล้ว “การป้องกัน ย่อมดีกว่าการรักษา”