โรคเกาต์ (gout)ดูแลอย่างไรดี | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

ความรู้เรื่องโรค

โรคเกาต์ (gout)ดูแลอย่างไรดี

Date : 23 March 2017

ข้อมูลจาก : นศภ.ปณิดา ไทยอ่อน นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : pixabay.com

โรคเกาต์ (gout) เกิดจากการสะสมผลึกเกลือโมโนโซเดียมยูเรต (monosodium urate) ในน้ำไขข้อและเนื้อเยื่อต่างๆ สืบเนื่องจากการมีระดับกรดยูริกในเลือดสูง (hyperuricemia) ที่มีค่ามากกว่า 6 และ 7 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในเพศหญิงและชายตามลำดับ ทั้งนี้การตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกาต์ทำได้โดยการตรวจพบผลึกเกลือโมโนโซเดียมยูเรต จากน้ำไขข้อหรือก้อนที่เห็นเป็นตะปุ่มตะป่ำ เรียกว่าก้อนโทฟัส (tophus) อย่างไรก็ตามระดับกรดยูริกในเลือดสูงอย่างเดียวนั้น ยังไม่สามารถที่จะยืนยันว่าเป็นโรคเกาต์ได้ ต้องมีอาการปวดบวมที่ข้อ หรือพบก้อนโทฟัส (tophus) ร่วมด้วยโรคเกาต์ ถือเป็นโรคข้ออักเสบที่พบบ่อยมีอุบัติการณ์การเกิด 4.3 คนต่อประชากรไทย 100,000 คน พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะให้ผู้ป่วยรับมือกับโรคเกาต์ได้ คือความเข้าใจในตัวโรคและการดูแลที่ถูกต้อง

โรคเกาต์ สามารถแบ่งได้ 3 ระยะ คือเมื่อเกิดอาการปวดข้อขึ้นมาหรือกำเริบอีกครั้ง เราเรียกว่า ระยะข้ออักเสบเฉียบพลัน (acute gouty arthritis) โดยทั่วไปสามารถหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์4 แต่ละคนอาจมีสาเหตุกระตุ้นอาการปวดข้อที่ไม่เหมือนกัน เช่น ปวดเมื่อมีอากาศหนาวเย็น การรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูง (เนื่องจากพิวรีนสามารถเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นกรดยูริกได้) การดื่มแอลกอฮอล์  หรือการใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น  ในขณะที่ผู้ป่วยโรคเกาต์ไม่มีอาการปวดข้อจะเรียกว่า ระยะปลอดอาการ (intercritical period) สุดท้ายหากปล่อยให้เกิดระดับกรดยูริกสูงบ่อยๆ จะนำไปสู่โรคเกาต์ ระยะเรื้อรังที่มีก้อนโทฟัส (chronic tophaceous gout) กลายเป็นข้ออักเสบเรื้อรังหลายๆ ข้อ อาการอักเสบกำเริบรุนแรงมากบ้างน้อยบ้างสลับกันไป และมีการทำลายของกระดูกข้อต่อเพิ่มมากขึ้น

ยารักษาโรคเกาต์กำเริบเฉียบพลัน ใช้เมื่อมีอาการปวด เพื่อลดการอักเสบภายในข้อสามารถหยุดยาได้เมื่ออาการปวดข้อดีขึ้นแล้ว ยาที่ใช้เป็นส่วนใหญ่ ได้แก่

  • ยาโคชิซิน (colchicine) ออกฤทธิ์โดยลดการอักเสบจากผลึกของกรดยูริก และลดการทำลายข้อกระดูกจากการทำงานของเม็ดเลือดขาว
  • ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory drugs, NSAIDs) เช่น นาพรอกเซน (naproxen) อินโดเมทาซิน (indomethacin) ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบทำให้อาการปวดบวมข้อทุเลาลง
  • ยากลุ่มสเตียรอยด์ชนิดกิน (oral glucocorticoids) เช่น ยาเพรดนิโซโลน (prednisolone) ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ

ยารักษาโรคเกาต์อีกประเภทหนึ่ง คือยาลดกรดยูริก ใช้เมื่อมีข้ออักเสบกำเริบเป็นๆ หายๆ บ่อยกว่า 2 ครั้งต่อปี มีข้ออักเสบเรื้อรัง หรือมีปุ่มโทฟัสเกิดขึ้น ยาประเภทนี้มีจุดประสงค์เพื่อละลายผลึกเกลือโมโนโซเดียมยูเรตออกจากเนื้อเยื่อและป้องกันไม่ให้ตกผลึกเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องรับประทานไปตลอดชีวิต1 มีด้วยกัน 2 กลุ่ม ได้แก่
 

  • กลุ่มยายับยั้งการสร้างกรดยูริก (uricostatic agents) มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidaseได้แก่ อัลโลพิวรีนอล (allopurinol) เฟบบูโซสตัท (febuxostat)
  • กลุ่มยาเร่งการขับกรดยูริกทางไต (uricosuric agents) ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการดูดกลับของกรดยูริกผ่านหลอดไตฝอย ทำให้กรดยูริกในเลือดลดลง ได้แก่ โพรเบเนซิด (probenecid) ซัลฟินไพราโซน(sulfinpyrazone) เบนซ์โบรมาโรน (benzbromarone)

นอกจากการใช้ยาอย่างถูกต้องแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมด้วยจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาโรคเกาต์ให้ดียิ่งขึ้น เช่น
ลดการรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูง10 ซึ่งอาหารดังกล่าว ได้แก่

  1. สัตว์ปีก เช่น เป็ด ห่าน ไก่
  2. เครื่องในสัตว์ เช่น เซ่งจี้ ตับหมู มันสมองวัว ตับอ่อน ไต
  3. ปลาและสัตว์น้ำบางชนิด เช่น ปลาไส้ตัน ปลาอินทรีย์ ปลาซาร์ดีน ปลาดุก ไข่่ปลา กะปิ กุ้งชีแฮ หอย
  4. ผักและธัญพืชบางชนิด เช่น ชะอม กระถิน ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ
  5. เห็ด ยีสต์
  6. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะเบียร์ พบว่าผู้ป่วยโรคเกาต์ที่ดื่มเบียร์มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการปวดเกาต์มากขึ้นประมาณ 2.5 เท่า เนื่องจากในเบียร์มีพิวรีนปริมาณมากสามารถเปลี่ยนเป็นกรดยูริกได้

นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเกาต์ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วย และยาที่ใช้บางตัวอาจส่งผลให้ระดับกรดยูริกสูงขึ้นได้ เช่น ยาขับปัสสาวะกลุ่ม thiazide ยาไซโคลสปอริน (cyclosporine) ยาแอสไพรินขนาดต่ำ (ต่ำกว่า 1 กรัมต่อวัน) จึงควรมีการติดตามระดับกรดยูริกในเลือดสม่ำเสมอ โดยสรุปแล้วการดูแลโรคเกาต์นั้นไม่ยากหากผู้ป่วยมีความเข้าใจในตัวโรค และการใช้ยาอย่างถูกต้องร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควบคู่กันไป จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการปวดข้อ ลดการรุดหน้าของโรคไม่ให้รุนแรง และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นอีกด้วย