เตือน ปชช.หลีกเลี่ยงกินหมูดิบ เสี่ยงโรคไข้หูดับ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

เตือน ปชช.หลีกเลี่ยงกินหมูดิบ เสี่ยงโรคไข้หูดับ

Date : 8 May 2017

ข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข
ภาพจาก : pixabay.com

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลปี 2560 พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับเกือบ 100 ราย ในจำนวนนี้เกือบทั้งหมดอยู่ในภาคเหนือและภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  5 จังหวัดแรกที่มีอัตราป่วยสูงสุดเป็นจังหวัดในภาคเหนือ พร้อมเตือนประชาชนที่รับประทานอาหารช่วงเทศกาลหรืองานบุญต่างๆ ขอให้หลีกเลี่ยงการกินหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เพราะเสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้หูดับ และอาจทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้

โรคไข้หูดับเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในกระแสเลือดของหมูที่กำลังป่วย โรคนี้สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1.การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ รวมทั้งเนื้อหมู เครื่องในหมู และเลือดของหมูที่เป็นโรค โดยติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา  2.การกินหมูดิบๆ หรือสุกๆดิบๆ ทั้งเนื้อ เครื่องใน และเลือด ซึ่งเชื้อจะเข้าไปทำให้เยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุหัวใจ อักเสบ และที่สำคัญคือทำให้ประสาทหูทั้ง 2 ข้างอักเสบและเสื่อมจนหูหนวก

ทั้งนี้ ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้หูดับคือ ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรคโดยตรง เช่น ผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู และผู้ที่รับประทานเนื้อหมูดิบ เป็นต้น กลุ่มที่เสี่ยงมีอาการป่วยรุนแรงถ้าติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ  ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคอ่อนแออยู่แล้ว

สำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าในร่างกาย จะป่วยหลังติดเชื้อประมาณ 3-5 วัน อาการที่พบ คือไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูดับ ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด  วิธีการป้องกัน คือ

1. กินหมูสุกเท่านั้น โดยปรุงเนื้อหมูให้สุกทั่วถึงด้วยความร้อนหรือทำให้สุกจนเนื้อไม่มีสีแดง ไม่กินสุกๆ ดิบๆ และควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ 

2. ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง