เชื้อราในช่องคลอด | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

เชื้อราในช่องคลอด

Date : 29 August 2017

ข้อมูลจาก : อาจารย์แพทย์หญิงเจนจิต  ฉายะจินดา หน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
ภาพจาก : pixabay.com

เมื่อมีอาการคันหรือมีตกขาวปริมาณมาก  สตรีมักจะนึกถึงการติดเชื้อราในช่องคลอดเป็นสาเหตุแรกๆ  ทำให้ไปหาซื้อยามาใช้เอง  ใช้ครบบ้างไม่ครบบ้างจนเกิดเป็นปัญหาเรื้อรังขึ้นมา  อันที่จริงแล้วอาการคันและตกขาวเกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งจากการติดเชื้อรา แบคทีเรีย หรือ ไวรัส  หรือแม้กระทั่งไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อเลย เช่น การตกขาวปกติร่วมกับความเป็นกรดของช่องคลอด  สิ่งแปลกปลอมที่ตกค้างในช่องคลอด เป็นต้น  ดังนั้น ก่อนที่จะซื้อยามาใช้เอง  ควรได้รับการประเมินจากสูติ-นรีแพทย์ก่อน โดยเฉพาะในการเป็นครั้งแรก

ช่องทางของอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงเป็นบริเวณที่เหมาะสมสำหรับการดำรงชีพของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียอื่นๆบางชนิด  การพบเชื้อดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าสตรีรายนั้นเป็นโรค  พบมากถึงร้อยละ 41 ของสตรีจะมีเชื้อราในช่องคลอดโดยไม่มีอาการ ทั้งนี้ขึ้นกับ อายุ เศรษฐฐานะ  ภูมิภาคที่อยู่อาศัย   เชื้อราชนิดที่สัมพันธ์กับการเกิดอาการช่องคลอดอักเสบจากเชื้อราส่วนใหญ่คือ เชื้อ Candida albicans  เพราะเป็นเชื้อที่สามารถยึดติดกับเซลล์เยื่อบุช่องคลอดได้ดี นอกจากนี้เชื้อ Candida ยังสามารถอยู่ในระบบทางเดินอาหารได้โดยไม่ก่ออาการอีกด้วย   โดยสามารถตรวจพบเชื้อรานี้ในอุจจาระของประชากรร้อยละ 65

Candida albicans เป็นเชื้อรา ที่เมื่อย้อมสีแกรมจะติดสีน้ำเงิน   ปรากฏให้เห็นเป็นสองรูปแบบคือ ยีสต์และสายรายาว  สามารถเจริญเติบโตได้ทั้งบนพื้นผิวและในสารคัดหลั่งของร่างกาย  โดยเมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์จะเห็นเป็นรูปแบบยีสต์ที่มีการแตกหน่อ จำนวนมาก   ขณะที่เจริญแทรกเข้าไปในเนื้อเยื่อจะมีการเปลี่ยนรูปร่างเป็น เส้นใยที่มีและไม่มีผนังกั้น

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อภาวะเชื้อราในช่องคลอด

การอักเสบในช่องคลอดจากเชื้อราพบได้น้อยในเด็กหญิงก่อนมีวัยประจำเดือน  และสตรีวัยหมดประจำเดือน  ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนคือ ปริมาณไกลโคเจนในสารน้ำในช่องคลอดและความชื้น  ดังนั้นภาวะนี้จึงพบได้มากในสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภูมิประเทศที่อาการร้อนและมีความชื้นสูง  ผู้ที่ได้รับยาปฏิชีวนะต่อเนื่องเป็นเวลานาน  นอกจากนี้ยังพบบ่อยในผู้ที่มีการทำหน้าที่ของ T-cell เสื่อมลง ได้แก่ โรคเบาหวานที่คุมได้ไม่ดี ผู้ที่ต้องรับยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน  หรือผู้ที่ติดเชื้อไวรัสภูมิต้านทานบกพร่อง ทำให้การกำจัดหรือการลดจำนวนของเชื้อราได้ช้าลง

อาการและอาการแสดงของภาวะเชื้อราในช่องคลอด

อาการแสดงที่เด่นชัดที่สุดคือ อาการคัน  ซึ่งมักจะคันค่อนข้างมาก  อาการมักจะดีขึ้นเมื่อมีประจำเดือนเชื่อว่าเกิดจากความเป็นด่างของเลือดประจำเดือน  โดยอาการคันจะครอบคลุมบริเวณฝีเย็บด้วย  หากคันเฉพาะบริเวณแคมใหญ่ควรคิดถึงการติดเชื้อราที่ผิวหนัง หรือ การติดปรสิตบางชนิด  หากคันทั้งที่ในช่องคลอดและฝีเย็บอาจเกิดจากเชื้อ T.vaginalis, Human papilloma virus  โดยควรได้รับการตรวจแยกโรคที่สถานพยาบาล  อาการเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์หรือแสบเมื่อปัสสาวะโดนบริเวณอักเสบก็สามารถพบได้บ่อย  สำหรับอาการตกขาวจะไม่ชัดเจนในบางรายโดยหากมีตกขาวผู้ป่วยมักจะมีอาการคันนำมาก่อน

การวินิจฉัยภาวะเชื้อราในช่องคลอด

การวินิจฉัยจะทำเมื่อผู้ป่วยมีอาการและอาการแสดงของช่องคลอดอักเสบร่วมกับผลการตรวจข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

1) ตรวจตกขาว Wet smear (saline, 10% KOH) หรือ Gram stain พบ yeast, hyphae, หรือ pseudohyphae

2) เพาะเชื้อหรือการตรวจอื่นแล้วพบยีสต์ชนิดใดชนิดหนึ่ง

โดยการตรวจเหล่านี้จำเป็นต้องทำโดยบุคลากรที่มีความชำนาญ  สำหรับการเป็นครั้งหลังๆ  ผู้ป่วยอาจลองซื้อยามาใช้เองได้  แต่จะต้องใช้อย่างถูกวิธีและครบตามจำนวน

การรักษาภาวะเชื้อราในช่องคลอด

1) ยาเฉพาะที่ ได้แก่ ยาทา หรือ ยาเหน็บ ยากลุ่มนี้ทั้งครีมและยาเหน็บเป็น Oil-based ควรระวังเมื่อใช้ร่วมกับ Latex condom   ยาทาเฉพาะที่อาจทำให้มีการระคายเคืองหรือแสบร้อนได้แต่จะไม่ทำให้แพ้ทั้งร่างกาย

2) ยารับประทาน อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง หรือปวดศีรษะได้  สำหรับยารับประทานกลุ่ม Azole พบมีรายงานทำให้เมีเอนไซม์ตับสูงขึ้น  ภาวะข้างเคียงจะพบมากขึ้นหากใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยาบางชนิด เช่น  Astemizole, Calcium channel antagonists, Cisapride, Cyclosporine A, Oral hypoglycemic agents, Phenytoin, Protease inhibitors, Tacrolimus, Terfenadine, Theophylline, Trimetrexate, Rifampin, และ Warfain

สามีต้องรักษาด้วยหรือไม่

ภาวะนี้ไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงยังไม่มีข้อสรุปให้รักษาในทุกราย  หากคู่นอนมีอาการก็ควรที่จะรักษาร่วมกันไปด้วย

กรณีที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ

1) อาการไม่ดีขึ้นหรือ กลับเป็นซ้ำในสองเดือนหลังการรักษา

2) การมีอาการอย่างน้อย 4 ครั้งใน 1 ปี  พบได้ในน้อยกว่าร้อยละ 5 ของสตรีทั่วไป

3) อาการรุนแรง คือ อวัยวะเพศบวมแดงมาก มีผิวเป็นขุย จนถึงอาจมีรอยแตกของผิวหนัง  กลุ่มนี้มักจะตอบสนองต่อยาระยะสั้นทั้งรูป  รับประทานหรือทายาเฉพาะที่ระยะสั้นได้ไม่ดี

4) ตั้งครรภ์

5) ผู้ที่มีการทำหน้าที่ของ T-cell เสื่อมลง ได้แก่ โรคเบาหวานที่คุมได้ไม่ดี ผู้ที่ต้องรับยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน  หรือผู้ที่ติดเชื้อไวรัสภูมิต้านทานบกพร่อง

หากท่านมีภาวะใดภาวะหนึ่งข้างต้น  ไม่ควรนิ่งนอนใจ  ควรมารับการกตรวจวินิจฉัยและดูแลจากแพทย์