บอกลาอาการ “Office Syndrome” | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

บอกลาอาการ “Office Syndrome”

Date : 29 August 2017

ข้อมูลจาก : อ.พญ.ศิวพร วงศ์พิพัฒน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพจาก : pixabay.com

Office Syndrome” อาการสุดฮิตของคนวัยทำงาน ที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์วันละหลายๆ ชั่วโมง จึงไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย จนทำให้เกิดอาการปวดต่างๆ เช่น

• ปวดตา จะเกิดขึ้นเมื่อใช้ตามากกว่า 5 ชั่วโมง

• ปวดคอ เพราะนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน

• ปวดแขน โดยจะปวดบริเวณมือและข้อมือเป็นหลัก รองลงมือคือ ปวดบ่า ไหล่ และแขน คนไข้ที่ปวดมือ แขนนานๆ จะกลายเป็นพังผืดไปกดทับเส้นประสาทตรงข้อศอก และนำไปสู่อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง

• ปวดหลัง คนทำงานออฟฟิศมีความเสี่ยงที่จะปวดหลังมากกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่า ยิ่งถ้าไม่มีเวลาจัดโต๊ะทำงาน และท่านั่งในการทำงาน ก็มีความเสี่ยงที่จะปวดหลังมากถึง 5 เท่า

อาการออฟฟิศซินโดรมที่กล่าวมาข้างต้นนั้น สามารถแก้ไขง่ายๆ ด้วยการจัดท่านั่งในการทำงาน และอุปกรณ์ต่างๆ ให้ถูกต้อง ดังนี้

ปรับอุปกรณ์สำนักงาน

• ตั้งจอคอมพิวเตอร์ให้เงยขึ้นประมาณ 30 องศา และให้มีระยะห่างจากตาถึงหน้าจอประมาณ 45-70 เซนติเมตร เพราะเป็นตำแหน่งที่สบายตาที่สุด

• ตัวหนังสือที่อ่านสบายตาที่สุดจะต้องมีขนาดมากกว่า 3 มิลลิเมตรขึ้นไป และไม่มีแสงตกกระทบบนหน้าจอ เพราะจะทำให้ปวดตา

• โต๊ะคอมพิวเตอร์จะต้องมีลิ้นชักเพื่อวางคีย์บอร์ด โดยปรับให้อยู่ในระดับข้อศอก ทำมุม 90 องศา ลักษณะแป้นพิมพ์จะต้องเอียง ทำให้สบายมือ การวางมือที่ถูกต้องในการพิมพ์ มือจะมีลักษณะงุ้มและโค้งเล็กน้อย วางนิ้วมือให้เหมือนกับนักเล่นเปียโน จะทำให้ไม่ปวดข้อมือ ส่วนการวางเมาส์ ก็ควรวางบนลิ้นชัก และมีแผ่นรองข้อมือ จะช่วยให้สบายขึ้น และสามารถเคลื่อนไหวได้แบบไม่จำกัด

• การเคาะแป้นพิมพ์ที่ถูกต้อง จะต้องใช้ข้างนิ้วหัวแม่มือในการเคาะ ถ้านิ้วใช้ผิด จะทำให้ข้อนิ้วเสื่อม

• ควรปรับตำแหน่งเก้าอี้ให้เหมาะสม ถ้าเก้าอี้มีขนาดใหญ่เกินไป ควรหาหมอนใบเล็กๆ มารองหลังไว้

• เวลาที่ต้องพิมพ์งานนานๆ ต้องมีสแตนด์สำหรับใส่งานที่จะพิมพ์วางไว้ใกล้ๆ คอมพิวเตอร์ เพื่อความสะดวกในการมองงานที่พิมพ์

• หากเก้าอี้สูงเกินไป ควรหาเก้าอี้เล็กๆ มารองเท้าไว้

• การวางแขนบนเก้าอี้ ต้องวางให้ข้อศอกงอ 90 องศา จะทำให้รู้สึกสบาย

ปรับพฤติกรรม

• ควรลุกขึ้นมาเปลี่ยนอิริยาบถ หรือเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น เมื่อทำงานไปประมาณ 1-2 ชั่วโมง จะช่วยลดอาการปวดลงไปได้พอสมควร

• พักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ทุกๆ 10 นาที

• ยืดเหยียดกล้ามเนื้อมือและแขน ทุกๆ 1 ชั่วโมง

• บริหารกล้ามเนื้อคอทุกๆ 1-2 ชั่วโมง

• ควรหาลูกบอล กะลา หรือกระป๋องน้ำอัดลมมากลิ้งใต้ฝ่าเท้า เพื่อบริหารฝ่าเท้า ทำให้พังผืดใต้ฝ่าเท้าไม่ยึด

• เปลี่ยนท่านั่งในการทำงานทุก 20 นาที