การบริโภคแคลเซียมที่ถูกต้อง | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

การบริโภคแคลเซียมที่ถูกต้อง

Date : 9 September 2024

ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ภาพจาก : pixabay.com

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์เมธีวิจัยอาวุโส สกว. หัวหน้าหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูกคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้การสนับสนุนและผลักดันให้เกิดงานวิจัยบูรณาการด้านแคลเซียมและกระดูกมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก และภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ค้นพบองค์ความรู้ใหม่ที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคแคลเซียม ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมที่มีประสิทธิภาพการดูดซึมสูง

แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อร่างกายทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท รวมถึงการหดตัวของกล้ามเนื้อและการส่งสัญญาณภายในเซลล์ แคลเซียมกว่าร้อยละ 99 เก็บสะสมภายในกระดูกทั่วร่างกาย จึงใช้ตัวชี้วัดที่เรียกว่า "ความหนาแน่นของกระดูก" รวมถึงคาดการณ์ถึงความแข็งแรงและความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหัก
ที่สำคัญคือ มีหลายโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุที่ลดการสร้างกระดูกแต่กระตุ้นการสลายกระดูก ทั้งความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันสูงในเลือด โรคอ้วน เป็นต้น

"ใครต้องรับประทานแคลเซียมเสริมบ้าง”?  เป็นอีกคำถามหนึ่งที่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน และยังเป็นที่ถกเถียงในวงการวิจัย

เราควรรับประทานแคลเซียมเสริมหรือยาเม็ดแคลเซียมก็ต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ชัดเจน เช่น มีหลักฐานที่แสดงว่าขาดแคลเซียม ความหนาแน่นของกระดูกลดต่ำลงจนเข้าข่ายเป็นโรคกระดูกพรุน มีความเสี่ยงจะเกิดกระดูกหัก ส่วนในเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ยังไม่สูงอายุ ควรรับประทานแคลเซียมตามที่สำนักโภชนาการ กรมอนามัยแนะนำ

ปัจจุบันคนไทยโดยทั่วไปรับประทานแคลเซียมต่อวันไม่ถึงปริมาณที่แนะนำ การพัฒนาอาหารเสริมแคลเซียมหรือผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมที่ดูดซึมได้ดีจึงจำเป็น และยังเป็นทางเลือกในการเสริมแคลเซียมสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องได้รับแคลเซียมเสริมตามข้อบ่งชี้ของการรักษาและป้องกันโรคอีกด้วย