10 เรื่องมะเร็งที่ควรรู้ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

10 เรื่องมะเร็งที่ควรรู้

Date : 14 June 2015

10 เรื่องมะเร็งที่ควรรู้โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ

1. มะเร็งไม่ใช่เรื่องเวรกรรม แม้โรคนี้จะร้ายแรงแต่ไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม เพราะกว่า 70% ของมะเร็งสามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าหากรู้เร็ว การตรวจคัดกรองโรคและการป้องกัน จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ
 

2. อ้วนเสี่ยงมะเร็ง คนอ้วนมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งสูงกว่าคนปกติ 2-3 เท่า ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (สัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30-50 นาที) จึงสำคัญเพราะจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน เพิ่มออกซิเจนให้กับเลือด และสร้างเกราะป้องกันมะเร็งได้อีกทางหนึ่ง
 

3. กินเสี่ยงมะเร็ง สถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐ ประเมินว่า 1 ใน 3 ของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสัมพันธ์กับเรื่องของอาหาร อาหารที่ให้พลังงานสูง อาหารจากเนื้อสัตว์ อาหารที่ยืดอายุการเก็บรักษา อาหารปนเปื้อนเชื้อรา พยาธิ ของปิ้งย่าง ที่สำคัญได้แก่ ไส้กรอก แหนม ข้าวโพดคั่วถุงอบไมโครเวฟ น้ำอัดลม มันฝรั่งทอด ของปิ้งย่าง และแอลกอฮอล์
 

4. กินต้านมะเร็ง คือกินอาหารให้ครบหมู่ ไม่ซ้ำซากจำเจ โดยพยายามกินอาหารชนิดต่างๆ ไม่น้อยกว่า 20 ชนิด ซึ่งนอกจากจะได้รับสารอาหารหลากหลายแล้ว ยังป้องกันสารพิษที่อาจปนเปื้อนมากับอาหารซ้ำๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว นอกจากนี้ ควรเน้นธัญพืชทั้งเมล็ดที่ไม่ผ่านการขัดสี ผัก และผลไม้ (หลากสี) ถ้าหากเป็นไปได้ "ออร์แกนิกส์" เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
 

5. กินกากใย สู้มะเร็งลำไส้ใหญ่ นอกจากลดอาหารหมักดอง ปนเปื้อนสารพิษ เนื้อแดง การป้องกันมะเร็ง ยังทำได้โดยการบริโภคผักผลไม้ อยู่เป็นนิจ เพราะมีสารพฤกษเคมีที่มีประโยชน์สูง รวมทั้งมีใยอาหารที่ช่วยดักจับสารพิษ และช่วยในการขับถ่าย อาหารที่มีกากใยหรือไฟเบอร์ เช่น ข้าวกล้อง (มีเส้นใยมากกว่าข้าวขาว 5-6 เท่า) ขนมปังโฮลวีต ถั่ว ข้าวโพด บวบ มะรุม แตงกวา แอปเปิ้ล ฝรั่ง ลูกพรุน ฯลฯ เป็นอาหารที่ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่

6. กินเหล้า = มะเร็ง นักดื่มจะเสี่ยงต่อมะเร็งช่องปาก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งคอหอย มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งเต้านมในเพศหญิง มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ ฯลฯ และขาประจำที่ใครๆ ก็รู้ว่าเกี่ยวข้องกับนักดื่มมืออาชีพก็คือ "มะเร็งตับ" และคนไทยก็เสี่ยงมากเพราะดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับ 5 ของโลก

10 เรื่องมะเร็งที่ควรรู้ thaihealth7. สิงห์อมควันเสี่ยงมะเร็ง 20-30 เท่าผู้ที่เป็นมะเร็งปอดร้อยละ 90 มาจากการสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 20-30 เท่า ขึ้นอยู่กับจำนวนและระยะเวลาที่สูบบุหรี่ และผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่แต่สูดควันบุหรี่จากผู้ที่อยู่ใกล้ชิด หรือในบริเวณอับที่มีควันบุหรี่อยู่ (Second hand smoke) มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด มากกว่าคนปกติถึง 1.2-1.5 เท่าเช่นกัน

8. ตรวจเต้า-ภายใน อย่าอาย การลดความเสี่ยงคือการตรวจคัดกรอง ตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) และตรวจมะเร็งเต้านม ควรสังเกตอาการผิดปกติและตรวจเต้านมเมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไปด้วยการเอกซเรย์เต้านมหรือแมมโม แกรมซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด

9. เครียดเสี่ยงมะเร็ง แม้ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงกลไกความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดกับการเกิดมะเร็ง แต่การศึกษาทั้งในคนและสัตว์ พบว่าความ เครียดเรื้อรังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลง ซึ่งอาจส่งผลต่อการเกิดมะเร็งที่มีความเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัสบางชนิด นอกจากนี้ ยังพบว่าความเครียดยังส่งผลต่อการขยายขนาดและแพร่กระจายของเนื้องอก เช่นเดียวกับการวิจัยในสัตว์ที่พบว่าฮอร์โมนซึ่งหลั่งออกมาเนื่องจากความเครียด มีผลต่อการทำงานของเซลล์มะเร็งได้โดยตรง อย่าเครียดน่าจะดีกว่า

10. พันธุกรรม ต้องระวังพิเศษ ยิ่งเมื่อมีคนในครอบครัว ญาติพี่น้องเป็น ก็ยิ่งเสี่ยงมากขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะคนที่มีพันธุกรรมต้องหมั่นดูแลสุขภาพมากขึ้น การตรวจคัดกรองมะเร็งเพื่อค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรกนับเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่ง เพราะหากค้นพบเร็วก็จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต