กินยารักษาโรคกระดูกพรุน มีผลต่อการถอนฟัน | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

กินยารักษาโรคกระดูกพรุน มีผลต่อการถอนฟัน

Date : 2 October 2015

ผู้สุงอายุควรระวัง กินยารักษาโรคกระดูกพรุนมีผลต่การถอนฟัน แนะก่อนรับการรักษาทางทันตกรรมทุกครั้งควรแจ้งโรคประจำตัวและยาประจำตัวให้ทันตแพทย์รับทราบ
ปัจจุบันมีผู้ป่วยสูงอายุหรือสุภาพสตรีวัยทองที่มีปัญหาโรคกระดูกพรุนมากขึ้น ผู้ป่วยเหล่านี้อาจได้รับการรักษาโดยการรับประทานแคลเซียมเสริมหรือวิตามินดีเสริมสร้างมวลกระดูก แพทย์อาจสั่งจ่ายยารักษาโรคกระดูกพรุนกลุ่มใหม่ ชื่อว่า "บิสฟอสโฟเนท" (bisphosphonate) ในผู้ป่วยบางราย ซึ่งยาในกลุ่มนี้มีทั้งยาที่กินสัปดาห์ละครั้ง เดือนละครั้ง หรือเป็นยาฉีดทุก 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ยากลุ่มนี้มีประโยชน์อย่างมากในการป้องกันการเกิดกระดูกหักในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน ตัวอย่างชื่อยาในกลุ่มนี้ เช่น ฟอสาแมกซ์ (fosamax), บอนิวา (boniva) เป็นต้น


การถอนฟัน ฝังรากเทียม หรือการผ่าตัดในช่องปากในผู้ป่วยที่ได้รับยารักษาโรคกระดูกพรุนกลุ่มใหม่นี้ จะมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะกระดูกตายภายหลังการรักษา ซึ่งจะทำให้แผลถอนฟันหรือแผลผ่าตัดไม่สามารถหายได้เอง หรือเกิดการติดเชื้อที่แผลถอนฟันภายหลังการรักษา


ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะหรือการผ่าตัดซ้ำเพื่อนำกระดูกที่ตายออก รวมทั้งทำให้ผลการรักษาโดยการฝังรากเทียมไม่เป็นที่น่าพอใจ ทันตแพทย์จึงอาจต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัวผู้ป่วยก่อนการรักษา เพื่อวางแผนให้เกิดความปลอดภัย ลดภาวะแทรกซ้อนภายหลังการรักษาให้มากที่สุด เช่น อาจวางแผนหยุดยาก่อนการถอนฟันหรือการผ่าตัด หรือวางแผนรักษารากฟันแทนการถอนฟัน เป็นต้น


ลองสำรวจยาที่ท่านได้รับจากแพทย์ว่ามียากินรักษากระดูกพรุนกลุ่มนี้ หรือมียาฉีดรักษาโรคกระดูกพรุนเป็นประจำหรือไม่ หากไม่แน่ใจควรนำยาที่กินหรือสอบถามยาฉีดที่ได้รับจากแพทย์มาให้ทันตแพทย์รับทราบก่อนรับการรักษาทางทันตกรรมทุกครั้งรวมถึงแจ้งโรคประจำตัวและยาประจำตัวของท่านให้ทันตแพทย์รับทราบ เพื่อให้ทันตแพทย์ได้วางแผนการรักษาได้เหมาะสม ปลอดภัยที่สุด

ขอบคุณข้อมูลจาก : สสส