ปัจจุบันมีประชากรทั่วโลกป่วยด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวประมาณ 26 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 46% ภายในปี พ.ศ. 2573 ทั้งนี้พบว่าผู้ป่วยชาวไทยมีอายุเฉลี่ยที่ต่ำกว่าและป่วยมากกว่าผู้ป่วยในยุโรปและอเมริกา สอดคล้องกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของภาวะหัวใจล้มเหลวในประเทศ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อภิชาต สุคนธสรรพ์ อายุรแพทย์ด้านโรคหัวใจ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวว่า ภาวะหัวใจล้มเหลวคือกลุ่มอาการที่หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่เพียงพอหรือเกิดจากโครงสร้างกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการบีบตัวของหัวใจ จนส่งผลต่อความสามารถในการทำกิจกรรมและการดำเนินชีวิต เช่น หายใจไม่ออก อ่อนเพลีย บวมที่ขา หัวใจเต้นเร็ว-เต้นผิดจังหวะ ไอเรื้อรัง มีเสมหะปนเลือด น้ำหนักตัวขึ้นกระทันหัน ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ภาวะหัวใจหัวใจล้มเหลวเป็นภัยเงียบที่ไม่ค่อยส่งสัญญาณอาการของโรคมากนัก แต่สามารถตรวจสอบตนเองจากสัญญาณเตือนถึงภาวะหัวใจล้มเหลวเพื่อการรักษาอย่างทันท่วงทีได้ดังนี้
1.เริ่มหายใจติดขัด หายใจไม่ออก
2.มีอาการไอเรื้อรัง หรือมีเสียงขณะหายใจ
3.มีอาการเหนื่อยและอ่อนเพลียได้ง่ายอย่างผิดปกติ
4.ขาดความรู้สึกอยากอาหาร หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน
5.มีความรู้สึกสับสน มีความบกพร่องด้านการคิดวิเคราะห์
6.หัวใจเต้นเร็วขึ้น
หากมีอาการตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
ทั้งนี้ การปรับวิถีชิวิต หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ งดสูบบุหรี่ ควบคุมความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือด ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และการควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม และลดความเครียด ฯลฯ จะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้อีกทางหนึ่ง
ขอบคุณข้อมูลจาก : เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ