การขับรถเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งของความเป็นอิสระ การพึ่งพาตนเองได้ ผู้สูงอายุไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังขับรถแม้อายุมากกว่า 60 ปี ถึงแม้ไม่มากเท่าฝรั่ง เพราะผู้สูงอายุที่เป็นฝรั่งมักไม่ได้อยู่กับลูกหลาน จึงยังต้องช่วยเหลือตัวเองเท่าที่ทำได้ ต้องไปซื้อของเอง ไปธนาคารเอง ไปนัดสังสรรค์ก็บ่อย อย่างไรก็ตามในอนาคตข้างหน้าจะมีผู้สูงอายุไทยที่ขับรถมากขึ้น เพราะคนเราอายุยืนขึ้น แถมปัจจุบัน หนุ่มๆ สาวๆ ก็ขับรถกันมากขึ้น คิดง่ายๆ นะครับว่าถ้าตอนนี้เรายังขับรถ พอเราอายุเกิน 60 ปี เราจะเลิกขับหรือเปล่า ในปัจจุบันนี้ยังไม่ได้มีความตื่นตัวมากนักในด้านระบบการประเมินความพร้อมของผู้สูงอายุที่ยังขับรถอยู่ ทั้งที่อุบัติเหตุทางการจราจรเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บพิการ และเสียชีวิตที่สำคัญในประเทศและผู้สูงอายุก็เป็นกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญเนื่องจากสุขภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป
การเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถ
โดยส่วนใหญ่แล้วผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถน้อยกว่าคนหนุ่ม ๆ สาวๆ ครับ สาเหตุก็เพราะว่าผู้สูงอายุมักจะขับรถช้ากว่า ประสบการณ์การขับรถก็ยาวนานกว่า มักคาดเข็มขัดนิรภัย และมักไม่ดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับรถ แต่ถ้ายิ่งผู้สูงอายุคนไหนขับรถยิ่งเร็วขึ้นๆ โอกาสการเกิดอุบัติเหตุยิ่งเพิ่มมากขึ้นกว่าคนหนุ่มสาวครับ โดยส่วนใหญ่ ถ้าอายุเกิน 70 ปี โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้นและยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากถ้าอายุเกิน 80 ปี และถ้าเมื่อไหร่เกิดอุบัติเหตุขึ้น ผู้สูงอายุมีแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรง ได้รับอันตรายมากกว่าและโอกาสถึงแก่ชีวิตสูงกว่าคนหนุ่มสาวถึง 9 เท่าครับ
ส่วนของร่างกายที่ใช้ในการขับรถ
การขับรถต้องอาศัยกระบวนการทางร่างกายเหล่านี้ประกอบกัน คือ
1. สมองแจ่มใส ไม่ขุ่นมัว
2. สมาธิและความตั้งใจดี
3. การตัดสินใจที่ว่องไว และแม่นยำ
4. ความปราดเปรียว แคล่วคล่อง ว่องไว เมื่อเกิดเหตุการณ์คับขัน
5. การประสานงานของส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างดี เช่น ระหว่างมือ แขน ขา คอ เป็นต้น
6. กำลังกล้ามเนื้อที่เพียงพอ
7. การขยับส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดี เช่น แขน ข้อไหล่ ลำคอ เป็นต้น
8. การมองเห็นและการได้ยินที่ดี
ทำไมผู้สูงอายุถึงมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่รถยนต์ได้ง่าย
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถในผู้สูงอายุ คือ
• อายุมากกว่า 85 ปี
• มีปัญหาด้านการมองเห็น
• มีภาวะสมองเสื่อม
โรคต่างๆที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุก็มีส่วนในการทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ขอยกตัวอย่างโรคเด่นๆ ที่มีผลกระทบชัดเจนดังนี้
• โรคตาชนิดต่างๆ เช่น ต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม ทำให้ขับรถในเวลาโพล้เพล้หรือตอนกลางคืนแล้วมองไม่ชัด ในผู้ป่วยต้อหินยังอาจมีลานสายตาที่แคบทำให้มองเห็นภาพส่วนรอบได้ไม่ดี ผู้ป่วยโรคต้อหินจะมองเห็นแสงไฟบอกทาง ไฟหน้ารถพร่าได้
• โรคสมองเสื่อม ในที่นี้หมายถึงเพิ่งเป็นไม่มากนะครับ เพราะถ้าเป็นมากแล้ว คงไม่มีใครยอมให้ขับรถแล้ว ผู้ที่สมองเสื่อม มีอาการหลงลืม ขับรถหลงทาง เลี้ยวผิดเลี้ยวถูก การตัดสินใจและสมาธิไม่ดี
• โรคอัมพฤกษ์ จากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นโรคที่พบได้พอสมควรในผู้สูงอายุ ทำให้แขนขาไม่มีแรงที่จะขับรถ เหยียบคันเร่ง เหยียบเบรกหรือเปลี่ยนเกียร์ได้ดี บางคนมีอาการเกร็งมากจนขากระตุกเวลาเหยียบคันเร่งหรือเบรก บางคนมีการประสานงานระหว่างแขน ขาไม่ดี หรือสมองสั่งให้แขนขา ทำงานไม่ได้ดีเหมือนเดิม ความไวของการตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ลดลง
• โรคพาร์กินสัน มีอาการแข็งเกร็ง มือสั่น บางทีมีเท้าสั่นด้วย ทำอะไรเชื่องช้าลง ทำให้ขับรถได้ไม่ดี
• โรคลมชัก ซึ่งพบได้ในผู้สูงอายุมากกว่าคนหนุ่มสาว เมื่อมีอาการชัก จะเกร็ง กระตุก ไม่รู้สึกตัว ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
• โรคข้อเสื่อม ข้ออักเสบต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการขับรถเช่น ข้อเข่าเสื่อม ทำให้เหยียบเบรกได้ไม่เต็มที่ ข้อเท้าอักเสบ ปวด จากโรคเก๊าท์ ทำให้ขยับลำบาก โรคกระดูกคอเสื่อม ทำให้ปวดคอ เอี้ยวคอดูการจราจรได้ลำบาก หรือมีอาการปวดหลัง จากกระดูกหลังเสื่อม ทำให้นั่งขับรถได้ไม่นาน
• โรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ ทำให้อาจมีอาการแน่นหน้าอกเมื่อขับรถนานๆ เครียดจากรถติด โรคเบาหวาน ทำให้มีอาการหน้ามืด ใจสั่น สมาธิไม่ดี ตาพร่า ถ้าน้ำตาลในเลือดต่ำลง
• ยา ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องรับประทานยา บางคนรับประทานหลายชนิด บางชนิดมีผลทำให้ง่วงซึม เช่น ยาแก้เวียนศีรษะ ยาลดน้ำมูก ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น ทำให้ง่วงนอน มึนงง สับสนได้เวลาขับรถ และทำให้การตัดสินใจ สมาธิ และความรวดเร็วในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน ไม่ดี ควรทำอย่างไรถ้ายังต้องการขับรถเมื่ออายุมากแล้ว
ถ้ามีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนว่าสามารถที่จะขับรถได้หรือไม่ ในบ้านเรายังไม่มีผู้ชำนาญการและระบบในการประเมินความปลอดภัยของผู้ขับขี่ที่สูงอายุ แพทย์จะประเมินการมองเห็น กำลังกล้ามเนื้อ การทำงานประสานกันของแขนขา การเกร็ง สั่นของกล้ามเนื้อ ความสามารถของสมอง และประเมินกระดูกและข้อต่อ ซักประวัติการรับประทานยาชนิดต่างๆ และประเมินโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคลมชัก ภาวะสมองเสื่อม โรคข้อเสื่อม เป็นต้น ว่าเหมาะสมกับการขับรถหรือไม่
วิธีปฏิบัติตัวให้ปลอดภัยเมื่อต้องขับขี่รถ
1. ปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความพร้อมของร่างกายในการขับขี่รถ ที่สำคัญคือ การมองเห็น กำลังกล้ามเนื้อ ความสามารถของสมอง และกระดูกและข้อต่อ
2. ควรตรวจสอบสภาพรถเป็นระยะเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเครื่องยนต์ขัดข้องฉุกเฉิน
3. ไม่ดื่มอัลกอฮอล์เมื่อจะขับรถ ตลอดจนหลีกเลี่ยงยาต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม มึนงง เมื่อต้องขับรถ
4. หลีกเลี่ยงการขับรถในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย
5. หลีกเลี่ยงการขับรถในช่วงกลางคืน
6. หลีกเลี่ยงการขับรถในสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม เช่น ฝนตกหนัก เป็นต้น เนื่องจากทำให้มองเห็นเส้นทางไม่ดี
7. คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่ขับรถ
8. ถ้าเป็นไปได้ ควรมีคนนั่งรถไปด้วยเพื่อช่วยกันดูเส้นทาง สัญญาณไฟจราจรและดูรถ
9. ไม่ควรขับรถทางไกลหรือไปในที่รถติดซึ่งต้องใช้เวลาในการขับขี่เป็นเวลานาน
ที่มา รศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันละสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล