ภัยจากสนามเด็กเล่น อันตรายใกล้ตัวที่ควรระวัง | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

ภัยจากสนามเด็กเล่น อันตรายใกล้ตัวที่ควรระวัง

Date : 23 February 2016

การเล่น คือ การเรียนรู้ที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับเด็ก “สนามเด็กเล่น” คือสถานที่ที่สำคัญแห่งหนึ่ง ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นสนามเด็กเล่นที่อยู่ในสวนสาธารณะ ตามรั้วโรงเรียน หรือตามห้างสรรพสินค้าก็ตาม ด้วยรูปแบบอันหลากหลายของเครื่องเล่น ล้วนส่งผลดีต่อพัฒนาการของเด็ก หากแต่ว่าสิ่งที่เป็นผลดีที่สุดในการเล่นในสนามเด็กเล่นก็คือ การได้วิ่งเล่น ได้ปีนป่ายเคลื่อนไหวร่างกายอย่างอิสระ ในสนามเด็กเล่นนั่นเอง

แต่จะมีใครคิดบ้างว่า สนามเด็กเล่น สถานที่เล็กๆ ที่บรรดาเด็กๆ ได้เล่นกันอย่างสนุกสนาน เต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม นอกจากจะให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่เด็กๆ แล้ว ยังสามารถที่จะนำภัยมาสู่บุตรหลานของเราได้ ในหลายครั้งเรามักจะได้ข่าวเด็กประสบอุบัติเหตุจากเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น บางคนแค่บาดเจ็บเล็กน้อย แต่ก็มีเด็กบางคนโชคร้ายบาดเจ็บสาหัส และบางรายถึงกับเสียชีวิต

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีได้มีการออกมาตรฐานข้อกำหนดของอุปกรณ์เครื่องเล่นสนาม วัสดุการเลือกใช้ การจัดเตรียมพื้นสนามเด็กเล่น และรายละเอียดย่อยของอุปกรณ์ปืนป่าย อุปกรณ์เคลื่อนไหว ชิงช้า กระดานลื่น และเครื่องเล่นชุด รวมทั้งแนวของการติดตั้ง ตรวจสอบ บำรุงรักษา และผู้ดูแลเด็กในสนามเด็กเล่น ไว้เบื้องต้นเพื่อเป็นข้อกำหนดให้ยึดปฏิบัติกัน แต่ก็ยังมีสนามเด็กเล่นหลายแห่งยังไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร

ดั้งนั้นผู้ปกครองอย่างเราควรมีวิธีป้องกันและดูแลลูกหลานของเราให้เล่นสนุกอย่างปลอดภัยกันโดยมีวิธีง่ายๆ แต่ได้ผลดังนี้

  • สังเกตดูว่าเครื่องเล่นเหล่านั้นปลอดภัยหรือไม่ ก่อนอื่นต้องดูที่ความแข็งแรงของเครื่องเล่น โดยเครื่องเล่นที่ดีต้องไม่ชำรุดเสียหาย อุปกรณ์ทุกชิ้นต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน ความแข็งแรงในการยึดหรือฝังฐานของเครื่องเล่นสนามถือเป็นหัวใจสำคัญในการติดตั้ง เครื่องเล่นสนามแต่ละชนิดจะถูกออกแบบฐานรากที่มีขนาด ความลึกที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับน้ำหนักและแรงที่กระทำในเครื่องเล่นสนามนั้นๆ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องเล่นเอนล้มลงมาทับเด็กได้
  • ระยะความสูงจากพื้นสนามถึงพื้นยกระดับของเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นไม่ควรสูงเกิน 1.20 – 1.80 เมตร แต่ถ้าเครื่องเล่นที่มีความสูงเกินกว่า 50 – 70 เซนติเมตร จะต้องมีราวกันตกหรือผนังกันตก เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการตก และก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรง
  • พวกเครื่องเล่นที่ออกแบบให้มีลักษณะเป็นรูหรือเป็นช่องจะต้องเล็กเกินกว่าศีรษะของเด็กจะลอดเข้าไป หรือใหญ่พอที่ศีรษะเด็กไม่เข้าไปติดค้างอยู่ รวมทั้งช่องรูต่าง ๆ ต้องมีขนาดที่สามารถป้องกันนิ้วเด็กไม่ให้เข้าไปติดด้วย เพราะเด็กในวัยนี้ชอบสำรวจ จอมซนบางคนอดใจไม่ได้ที่จะแหย่นิ้วเข้าไปตามรูตามช่องต่างๆ และพื้นที่เดิน จะต้องมีขนาดช่องว่างที่สามารถป้องกันไม่ให้เท่าหรือขาเข้าไปติดได้เล่นกัน ทั้งนี้อุปกรณ์เครื่องเล่นแต่ละอัน ควรมีระยะห่างในการติดตั้งพอสมควร ไม่แออัด เพื่อหลีกเลี่ยงการชนกันหรือกระแทกกันของเด็กเวลาเล่น
  • อุปกรณ์เคลื่อนไหวอย่างชิงช้าจะต้องทำด้วยวัสดุที่แข็ง ป้องกันการกระแทกได้ดี สีที่ทาต้องไม่หลุดลอกติดมือ รวมทั้งไม่เป็นสนิมอีกด้วย นากจากนี้วัสดุที่ใช้ต้องไม่เป็นพิษและมีสารโลหะหนักเจือปนไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ในของเล่น น็อตที่ใช้ในการยึดเครื่องเล่นสนามเช่นกัน ควรเป็นระบบกันคลาย และต้องออกแบบให้ซ่อนหัวน็อต หรือปลายตัดหัวมน
  • พื้นสนามเด็กเล่นที่ดี ต้องประกอบด้วยวัสดุที่อ่อนนิ่ม ดูดซับพลังงานได้ ซึ่งพื้นสนามที่ดีควรปูลาดด้วยทรายหนาไม่ต่ำกว่า 20 เซนติเมตร ซึ่งอาจจะมากกว่านั้นได้แล้วแต่ระดับความสูงของเครื่องเล่น หรือพื้นสนามอาจทำด้วยยางสังเคราะห์ เวลาเด็กหกล้ม หรือตกลงจากเครื่องเล่นจะได้ไม่บาดเจ็บมากจนเกินไป

ขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย)