น้ำมันมะพร้าวรักษาโรค อัลไซม์เมอร์ (Alzheimer ) ได้จริงหรือ? | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

น้ำมันมะพร้าวรักษาโรค อัลไซม์เมอร์ (Alzheimer ) ได้จริงหรือ?

Date : 15 March 2016

น้ำมันมะพร้าว (Coconut oil) ซึ่งสกัดจากเนื้อ (Kernel) ของมะพร้าว (Cocos nucifera) ได้รับความสนใจและมีการแนะนำให้นำมาใช้การรักษาโรคอัลไซม์เมอร์ ในน้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันสายปานกลาง (Medium chain triglycerideds, MCTs ) ซึ่งมีจำนวนคาร์บอน 8-12 อะตอมได้แก่กรดลอริก ( C=12) กรดคาปริก (C=10) กรดคาไพรลิก(C=10) และกรดคาโปรอิก (C=8) รวมกันประมาณ 62.5 % ไขมันซึ่งมีกรดไขมันสายปานกลางเมื่อเข้าสู่ร่างกายสามารถเข้าสู่ตับได้โดยตรงไม่ต้องอาศัยน้ำดีในการย่อย
โดยทั่วไปร่างกายได้รับพลังงานจากกลูโคส เมื่อกลูโคสลดลงเช่นในกรณีขาดอาหารหรืออดอาหาร ตับจะสร้าง ketone bodies ซึ่งได้แก่ acetoacetate beta-hydroxybutyrate และacetone จากไขมันที่ร่างกายสะสมไว้เพื่อเป็นแหล่งพลังงานแทน

ในผู้ที่เป็นโรคอัลไซม์เมอร์นั้นการเผาผลาญกลูโคสลดลงจึงมีผลต่อการทำงานของสมอง มีผู้เสนอให้ใช้น้ำมันมะพร้าวซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างคีโตนเพื่อเป็นแหล่งพลังงานของสมองและกล่าวว่าผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมสามารถใช้คีโตนได้ดีกว่ากลูโคส ซึ่งทฤษฎีนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนักในหมู่แพทย์ที่รักษาโรคอัลไซม์เมอร์และนักวิจัย

การทำให้เกิดภาวะคีโตซิสในร่างกายนั้นสามารถทำได้โดยการให้อาหารที่เรียกว่า Ketogenic diet ซึ่งเป็นอาหารที่มีไขมันสูง คาร์โบไฮเดรตและโปรตีนต่ำ เพื่อให้ร่างกายใช้ไขมันเป็นแหล่งพลังงานหลักเพื่อทำให้เกิดการสร้างคีโตนขึ้น มีการใช้อาหารนี้ในการรักษาโรคลมชักมาเป็นระยะเวลานานโดยเฉพาะในเด็กที่ไม่ค่อยตอบสนองต่อการใช้ยาและต่อมาพบว่าการใช้ MCTs oil แทนไขมันที่ใช้ตามปกติจะทำให้การดูดซึมเร็วกว่า และทำให้อาหารมีรสชาติดีกว่า เกิดภาวะคีโตซิสได้เร็วกว่าสามารถป้องกันการชักได้

มีรายงานการศึกษาถึงผลของการใช้ Ketogenic diet ในผู้สูงอายุที่เป็นโรคอัลไซม์เมอร์และมีความจำเสื่อมเล็กน้อยจำนวน 23 คน เป็นเวลา 6 สัปดาห์ โดยให้อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำซึ่งจะทำให้มีระดับคีโตนเพิ่มขึ้น พบว่าทำให้ผู้ป่วยมีความจำดีขึ้นกว่าอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง และอีกการศึกษาหนึ่งเป็นการศึกษาทางคลินิกเบื้องต้นในผู้ป่วยอัลไซม์เมอร์หรือผู้ป่วยความจำเสื่อมอย่างอ่อนจำนวน 20 คน โดยให้ดื่มเครื่องดื่ม MCTs เมื่อทดสอบความจำพบว่าผู้ป่วยมีความจำบางอย่างดีขึ้นและพบว่ามีระดับ beta-hydroxybutyrate สูงขึ้นอย่างเฉียบพลันภายใน 90 นาที หลังการศึกษาทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะผู้ป่วยจำนวน 9 คนที่ไม่มี apolipoprotein E เท่านั้น

ปัจจุบันมีอาหารทางการแพทย์ (Medical food) ที่ชื่อว่า Axona® มีสารสำคัญคือกรดคาไพรลิกซึ่งเป็นกรดไขมันสายปานกลาง มีการศึกษาทางคลินิกโดยใช้ชื่อว่า Ketasyn [AC-1202] โดยทำการศึกษาในผู้ป่วยอัลไซม์เมอร์อย่างอ่อนและปานกลาง จำนวน 152 คน เป็นเวลา 90 วัน แบบ randomized double-blind ใน phase 2 โดยให้ Axona® วันละ10-20 กรัมหรือยาหลอก ในวันที่ 45 ทางผู้ผลิตรายงานว่าผู้ป่วยที่ได้รับ Axona® สามารถทำแบบทดสอบความจำได้ดีกว่า และในวันที่ 90 และหลังจากหยุดให้ Axona® แล้วคือในวันที่ 104 พบว่าผู้ป่วยที่ไม่มี apolipoprotein E gene และได้รับ Axona® มีความจำดีกว่าผู้ที่ได้รับยาหลอก ทั้งสองครั้ง แต่อย่างไรก็ตามทางผู้ผลิตไม่ได้ทำการศึกษาต่อใน phase 3 ซึ่งต้องทำในผู้ป่วยอัลไซม์เมอร์จำนวนมากขึ้นจึงจะสามารถผ่านการอนุมัติขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาให้ขึ้นทะเบียนเป็นยาได้ ดังนั้นจึงยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปได้ว่าอาหารทางการแพทย์ Axona® ใช้รักษาโรคอัลไซม์เมอร์ได้

สำหรับการใช้น้ำมันมะพร้าวในการรักษาโรคอัลไซม์เมอร์นั้น ยังไม่พบว่ามีรายงานการวิจัยหรือบทความตีพิมพ์ที่กล่าวถึงการศึกษาทางคลินิกที่ประเมินได้ว่าสามารถใช้รักษาโรคอัลไซม์เมอร์ จึงน่าจะมีการส่งเสริมให้มีการวิจัยทางคลินิกที่นำน้ำมันมะพร้าวมาใช้ในการรักษาโรคอัลไซม์เมอร์โดยตรงเพื่อจะได้ทราบถึงปริมาณที่เหมาะสมและปลอดภัยรวมถึงผลข้างเคียงต่างๆที่อาจเกิดขึ้นกับระบบทางเดินอาหารหรือปริมาณไขมันในเลือด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ป่วยและเป็นแนวทางใหม่ในการรักษาโรคอัลไซม์เมอร์ต่อไป


เอกสารอ้างอิง

  1. Alzheimer’s Association. Alternative treatments. http//www. alz.org/alzheimers_disease_alternative_treatments.asp Accessed August 1, 2012.
  2. Henderson ST, Vogel JL, Barr LJ, Garvin F, Jones JJ, Costantini LC. Study of the ketogenic agent AC-1202 in mild to moderate Alzheimer’s disease: a randomized, double-blind, placebo-controlled, multicenter trial. Nutr Metab(Lond). 2009;6:1.
  3. Krause MV. Mahan LK. Nutritional care in disease of the nervous system and behavioral disorders. In : Krause MV. Mahan LK, eds. Food, nutrition and diet therapy 7th ed. Philadelphia : WB Saunders ; 1984.
  4. Krikorian R, shidler MD, Dangelo K, Couch SC, Benoit Sc, Clegg DJ. Dietary Ketosis enhances memory in mild cognitive impairment. Neurobiol Aging. 2012; 33:425.e19-27
  5. Reger MA, Henderson ST, Hale C, et al. Effects of beta-hydroxybutyrate on cognition in memory-impaired adults. Neurobiol Aging.2004;25:311-314. Abstract
  6. Scott GN. Is coconut oil effective for treating Alzheimer disease?
  7. http://as.webmd.com/viewarticle/764495?src=emailthis. Accessed July 30, 2012.