อุบัติเหตุที่เกิดกับฟันแท้ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

อุบัติเหตุที่เกิดกับฟันแท้

Date : 22 March 2016

อุบัติเหตุคือสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่ป้องกันได้และทำอุบัติเหตุนั้นให้คลี่คลายดีที่สุดได้

อุบัติเหตุที่เกิดกับฟันแท้ก็เช่นเดียวกัน เกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่เว้นแม้แต่หมอฟันหรือลูกของหมอฟัน พ่อแม่บางคนมักรู้สึกผิดที่ลูกได้รับอุบัติเหตุกับฟัน มักโทษตัวเองว่าพลั้งเผลอดูลูกไม่ระวัง ต้องปลอบใจว่า ลูกหมอฟันก็ยังหกล้มเลย ทำไมก็ไม่ทราบ คนไข้จะรู้สึกดีขึ้นมาเชียวที่มีลูกหมอมาเป็นเพื่อนหกล้มด้วย

จากค่าสถิติที่มีผู้ทำไว้พบว่า เด็กทุกๆ 2 คน จะมี 1 คนที่เคยมีฟันได้รับอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่มักเกิดกับเด็กในช่วงอายุ 8-12 ปี เกิดในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง และฟันที่พบว่าได้รับอุบัติเหตุบ่อยที่สุดคือฟันหน้าบน

เรามาเรียนรู้เกี่ยวกับอุบัติเหตุกับฟันแท้จะดีกว่า รู้เอาไว้หากวันใดเกิดขึ้นกับลูกหลานจะได้รับมือได้

ขั้นแรกสุดคือต้องไม่ตกใจเกินไป สำรวจอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นรุนแรงเพียงใด ลักษณะการเกิดอุบัติเหตุ เวลาที่เกิด และรีบปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธีหากมีการบาดเจ็บร่างกาย และศีรษะ มีอาการมึนงง หมดสติ คลื่นไส้ อาเจียน ก็คงต้องรีบส่งแพทย์ก่อนนะคะ แต่หากอุบัติเหตุเกิดเฉพาะในปากั้อาจมีเลือดออกจากแผลที่ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม หรือที่เหงือกรอบฟัน ให้สำรวจดูว่าเลือดออกจากบริเวณไหน และใช้ผ้าสะอาดกดให้เลือดหยุด เมื่อเลือดหยุด ความรุนแรงจะดูลดลง อาจใช้ผ้าสะอาดห่อน้ำแข็งประคบช่วยให้เลือดหยุดไหลร่วมด้วยั้จากนั้นพาไปพบทันตแพทย์ทันทีไม่ว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นจะดูเล็กน้อยเพียงไร ควรพบทันตแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้องแบบปลอดภัยไว้ก่อน หมอจะสอบถามข้อมูลต่างๆ เช่น อุบัติเหตุเกิดที่ไหน เกิดอย่างไร และเวลาเท่าไหร่ เพราะบางครั้งถ้าเกิดที่สนามเด็กเล่นอาจมีดินหรือสิ่งสกปรกปนเปื้อน คงต้องส่งฉีดยากันบาดทะยักร่วมด้วย เป็นต้น

อุบัติเหตุที่มาพบหมออาจมีลักษณะที่แตกต่างกัน หมอขอประมวลออกมาเป็นข้อๆ ดังนี้

1. อุบัติเหตุที่รุนแรงน้อยที่สุด อาจเพียงแค่แรงกระแทกฟันทำให้มีเลือดออกจากเหงือกรอบๆ ฟัน ฟันไม่หักแต่อาจโยกเล็กน้อย เด็กอาจบ่นเจ็บฟันและไม่ใช้ฟันหน้าซี่นั้นกัดอาหาร อาการเหล่านี้เป็นอยู่ 2-3 วันก็หายั้การดูแลกรณีนี้ คืองดการใช้ฟันหน้า และรับประทานอาหารอ่อน 1-2 สัปดาห์ ดูแลรักษาความสะอาดอย่างดี และควรพบทันตแพทย์เพื่อถ่ายภาพรังสี ดูการสร้างรากฟันว่าสมบูรณ์ดีหรือยัง และตรวจดูว่ามีรากฟันหักหรือไม่ด้วยนะคะ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องที่สุด นอกจากนั้น ฟันที่ได้รับอุบัติเหตุ แม้เพียงเล็กน้อยก็คงต้องพบทันตแพทย์เพื่อตรวจและถ่ายภาพรังสีเป็นระยะๆ ทุก 1, 2, 6 เดือน และ 1, 2, 3 ปี เพราะถ้ามีการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติ จะได้ดูแลรักษาได้ทันท่วงที ไม่ให้ต้องสูญเสียฟันไป

2. ฟันบิ่นหรือฟันหักสามารถอุดเติมให้เต็มซี่ได้ด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน หรือถ้ามีชิ้นส่วนฟันที่หักมีขนาดใหญ่ สามารถเก็บให้ทันตแพทย์ช่วยต่อให้ได้ 

3. ฟันหักถึงโพรงประสาทฟัน โดยรูที่ทะลุโพรงประสาทฟันไม่ใหญ่ ดูสะอาด และมารับการรักษาภายใน 24 ชั่วโมงหลังเกิดอุบัติเหตุ ทันตแพทย์อาจใส่ยาปิดบริเวณที่ทะลุโพรงประสาทฟันและอุดเติมให้เต็มซี่ แต่ถ้ารูทะลุขนาดใหญ่ หรือไม่ได้มาพบทันตแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง ฟันซี่นี้ก็อาจต้องรับการรักษารากฟันต่อไปค่ะ 

4. ฟันโยก ฟันเคลื่อนจากตำแหน่งเดิม ทันตแพทย์จะจับให้อยู่ตำแหน่งเดิมและเข้าเฝือกฟันตามความเหมาะสม ถ้าฟันเคลื่อนไปจากตำแหน่งเดิมมาก ก็อาจจำเป็นต้องรักษารากฟันด้วย

5. ฟันยุบเข้าไปในกระดูกเบ้าฟัน ทันตแพทย์ต้องถ่ายภาพรังสีดูว่ารากฟันสร้างเสร็จหรือยัง ถ้ายัง ก็อาจรอให้ฟันงอกขึ้นมาเองใหม่ใน 2-4 เดือน ถ้ายังไม่งอกลงมาอาจต้องใช้การจัดฟันช่วยั้แต่ถ้ารากฟันสร้างสมบูรณ์แล้วอาจต้องใช้การจัดฟันช่วยดึงฟันลงมาร่วมกับการรักษารากฟันด้วย 

6. ฟันหลุดออกจากเบ้าฟันทั้งซี่พบบ่อยที่ฟันหน้าบนในเด็กอายุ 7-10 ปีที่เนื้อเยื่อหุ้มรากฟันยังมีโครงสร้างไม่แข็งแรงจึงต้านต่อแรงกระแทกได้น้อย ในฟันแท้ เราจะพยายามปลูกฟันกลับเข้าที่เดิม ซึ่งความสำเร็จขึ้นอยู่กับเวลา และวิธีการเก็บรักษาฟันก่อนมาพบทันตแพทย์ 

ดังนั้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุฟันแท้หลุดออกมาทั้งซี่ ควรปฏิบัติดังนี้ 

1. หาฟันให้พบโดยเร็วที่สุด โดยจับที่ตัวฟัน อย่าจับที่รากฟัน สังเกตจากตัวฟันมีสีขาวกว่า และไม่มีปลายแหลม เหตุที่ไม่ให้จับรากฟัน เพราะรากฟันมีเยื่อยึดระหว่างกระดูกและฟันอยู่ ถ้าไม่หลุดหายไป ก็จะทำให้การปลูกฟันกลับเข้าไปประสบผลสำเร็จได้

2. อย่าขัดถูรากฟันเด็ดขาด เพราะจะทำให้เซลล์ของเยื่อยึดกระดูกและฟันตายได้ ถ้าฟันสกปรกมาก ให้ล้างโดยจับที่ตัวฟัน และถือให้น้ำไหลเอื่อยๆ ผ่านเท่านั้น 

3. สวมฟันกลับเข้าที่ทันที ถ้าทำได้ โดยใส่ส่วนรากฟันเข้าไป และรีบมาพบทันตแพทย์ 

4. ถ้าทำไม่ได้ให้แช่ในนมจืด จะช่วยรักษาสภาพฟันได้ดีที่สุด 

5. แช่ในน้ำเกลือล้างแผล จะดีรองลงมา 

6. ถ้าหาไม่ได้ทั้ง 2 อย่าง ให้อมฟันไว้ในกระพุ้งแก้มของเจ้าของฟัน หรือเอาผ้าห่อฟันแล้วอมไว้ในปาก 

7. ถ้าไม่มีทางเลือกอื่น ให้แช่ฟันในน้ำเปล่า อย่าทิ้งฟันให้แห้งเด็ดขาด 

8. มาพบทันตแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะยิ่งฟันอยู่นอกปากนานเท่าไร โอกาสรักษาฟันไว้ได้ก็มีน้อยลงเท่านั้น ถ้าให้ดีก็คือภายใน 30 นาทีหลังเกิดอุบัติเหตุนะคะ ผลสำเร็จจะดีมาก ถ้าเกิน 2 ชั่วโมง ผลสำเร็จจะลดลง

ดังที่ได้กล่าวแล้ว ฟันที่ได้รับอุบัติเหตุ แม้ได้รับการรักษาแล้ว ก็คงต้องพบทันตแพทย์เพื่อตรวจและถ่ายภาพรังสีเป็นระยะๆ ทุก 1, 2, 6 เดือน และ 1, 2, 3 ปี เพราะถ้ามีการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติ จะได้ดูแลรักษาได้ทันท่วงที ไม่ให้ต้องสูญเสียฟันไป

ขอบคุณข้อมูลจาก : กองทันตแพทย์