การฟอกสีฟัน
ปัญหาสีฟันที่เมื่อก่อนแก้แบบธรรมชาติไม่ได้ คงต้องถือว่าถือว่าสีฟันเหมือนสีผิวได้มาอย่างไรก็อย่างนั้น เช่นเกิดมาผิวดำก็ต้องดำกันไป แต่ถ้าเป็นมากๆ เช่นฟันที่เป็นผลจากการใช้ยาเตทตร้าไซคลินต้องใช้วัสดุอุดฟันเคลือบ หรือใช้เซรามิกติด หรือทำครอบฟันไปเลย ก็แก้ไขปัญหาไปได้ แต่ปัญหาคือ สิ่งที่นำมาใช้ไม่ใช่เนื้อฟันตามธรรมชาติจริงๆ ในปัจจุบันจึงนิยมใช้การฟอกสีฟันมาแทนมากกว่า แม้แต่คนที่สีฟันไม่ได้มีปัญหาด้วยซ้ำ ก็ยังอยากมาฟอกสีฟัน เพราะฟันที่ขาวจะดูสะอาดไปด้วย คนที่ฟันสีคล้ำก็จะดูดีขึ้นแม้กระทั่งฟันเตทตร้าไซคลินก็ตาม ยกเว้นถ้าคล้ำมากๆจริงก็อาจดูดีขึ้นเพียงเล็กน้อย จึงยังอาจต้องพึ่งวิธีการเก่าๆอยู่ดี
กลไกของการฟอกสีฟันเป็นอย่างไร
สารที่ใช้ฟอกสีฟันคือ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide) ซึ่งอาจมาจากการใช้สารไฮโดรเจนเปอรออกไซด์โดยตรงหรือจากการสลายตัวของโซเดียมไฮเปอร์บอเรตหรือคาร์บาไมด์เปอร์ออกไซด์ก็ได้ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เป็นสารที่มีโมเลกุลขนาดเล็กแทรกซึมไปในเนื้อฟันได้ง่ายจะเข้าไปทำปฏิกิริยาสารมีสีซึ่งอยู่ในเนื้อฟันซึ่งเป็นโมเลกุลใหญ่และทึบแสงให้แตกตัวเป็นโมเลกุลขนาดเล็กลง และโปร่งแสง ประสิทธิภาพของการฟอกสีฟันขึ้นกับความเข้มข้นของสารฟอกสีฟัน ความสามารถในการแทรกซึมเข้าไปหาโมเลกุลสี ระยะเวลาและจำนวนครั้งที่สารฟอกสีฟันได้สัมผัสกับโมเลกุลสีในเนื้อฟัน
วิธีการฟอกสีฟันที่นิยมในปัจจุบันมี ดังนี้คือ
1. In-office power bleaching เป็นการทำโดยทันตแพทย์ ใช้สารฟอกสีฟันที่มีความเข้มข้นสูงและอาจเร่งปฏิกิริยาโดยการใช้ความร้อน ใช้แสงจาก cool light , Plasma arc หรือ laser เป็นต้น แสงเหล่านี้จะช่วยเร่งให้โมเลกุลของสารฟอกสีฟันแตกตัวได้เร็วขึ้น ทำให้เห็นผลเร็วขึ้น
2. At-home bleaching เป็นการฟอกสีฟันด้วยตัวเองที่บ้านด้วยสารฟอกสีฟันที่มีความเข้มข้นต่ำ โดยคนไข้ต้องมาพบทันตแพทย์เพื่อพิมพ์ปากทำถาดใส่น้ำยาเฉพาะบุคคลให้ แล้วนำน้ำยาที่ทันตแพทย์จัดความเข้มข้นให้ ใส่ถาดบริเวณหน้าฟัน เพื่อฟอกสีฟันด้วยตัวเอง ใส่ถาดนี้อย่างน้อย 4 ชั่วโมง หรือตลอดคืน ทำอย่างน้อย 8 ครั้ง
3. Over the counter bleaching เป็นการใช้สารฟอกสีฟันที่วางขายตามร้านค้าทั่วไปโดยผู้ป่วยเป็นผู้ทำเอง ด้วยสารฟอกสีฟันความเข้มข้นต่ำๆ เพราะสารฟอกสีฟันความเข้มข้นที่หมอฟันใช้ ไม่ได้รับการอนุญาตให้ขายได้ในหมวดเครื่องสำอางค์ เพราะอาจมีอันตรายต่อผู้บริโภคหากใช้ไม่ถูกวิธี ถ้ามีบางประเทศอนุญาตให้ขายความเข้มข้นสูงได้ ก็อาจอันตรายต่อเนื้อเยื่อหรือฟันเกินไป หากใช้ไม่ถูกวิธี และนานเกินไป
เปรียบเทียบผลของการฟอกสีฟัน
แบบที่ 1 และ 2 เมื่อสิ้นสุดการฟอกได้ผลไม่แตกต่างกัน แต่แบบที่ 2 จะขาวยาวนานกว่าเนื่องจากมีจำนวนครั้งที่สารฟอกสีฟันสัมผัสโมเลกุลสีในเนื้อฟันนานกว่า ในขณะที่แบบที่1 มีข้อดีที่รวดเร็ว ประมาณ 40นาที- 1ชั่วโมงก็เสร็จแล้ว และเหมาะกับคนขี้รำคาญไม่สามารถใส่ถาดฟอกสีฟันได้นานๆ วิธีที่ดีที่สุดคือใช้ทั้งแบบที่1 และ 2 ร่วมกัน เพราะฟันจะขาวขึ้นอย่างเห็นผลดีและอยู่ได้นานด้วย แต่ราคาก็จะสูงขึ้นด้วย ทั้งนี้เมื่อเวลาผ่านไป อาจมีการคืนกลับของโมเลกุลสีของฟันได้ จึงมักมีสีไม่ขาวเท่าเมื่อแรกฟอกแต่ก็มักจะขาวกว่าเมื่อเริ่มต้นก่อนฟอกสีฟันอยู่ดี ส่วนผลจากวิธีการที่ 3 ยังไม่มีผลสรุปที่ชัดเจน
ฟันที่ฟอกจะขาวนานแค่ไหน
ฟันที่ฟอกจะขาวนานหรือไม่ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น อุปนิสัยการรับประทานหรือดื่มของคนไข้ หากชอบดื่มกาแฟหรือสารมีสี เช่นแกงส้ม ต้มยำ ก็จะคืนกลับเร็วกว่า, วิธีที่ใช้ในการฟอกสีฟัน, ระยะเวลาและจำนวนครั้งที่สารฟอกสีสัมผัสกับโมเลกุลสีของเนื้อฟัน โดยทั่วไปการฟอกสีฟันอาจคืนกลับประมาณ 50%ไม่ขาวเหมือนเมื่อแรกฟอกประมาณ 1 ปี ถ้ามีอุปนิสัยไม่ทานของมีสี อาจขาวอยู๋ได้นานขึ้นอีก จึงมักมีการทำ touch up ถ้าต้องการให้คงความขาวไว้ การทำครั้งที่ 2 นี้อาจจะใช้เวลาน้อยกว่าเดิมก็ขาวแล้ว
อาการข้างเคียงที่มักเกิดขึ้นจากการฟอกสีฟัน
อาการเสียวฟัน
มักเกิดมากใน 1 ชั่วโมงแรกหลังฟอกหรือขณะฟอก ซึ่งมักอยู่ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง จากนั้นจะเกิดขึ้นอีกเพียงระยะหนึ่งและมักหายไปภายใน 1-4 วัน
อาการระคายเคืองของเนื้อเยื่อ
มักพบในวิธีนำถาดไปฟอกที่บ้าน ถ้าคนไข้ใส่น้ำยาล้นเกินมาถึงขอบเหงือก เหงือกก็จะระคายเคืองได้
ราคาของการฟอกสีฟัน
เนื่องจากการฟอกสีฟัน เป็นไม่ใช่เป็นการรักษาโดยตรง จัดอยู่ในหมวดความสวยงาม และ กรณีฟอกฟันขาวแบบที่1 ซึ่งต้องมีเครื่องมือต้นทุนสูงประกอบ จึงทำให้ราคาการฟอกสีฟันนั้นค่อนข้างสูงในระดับ พันปลายๆ ถึง 1 หมื่นในบางแห่ง ถ้าทำเองที่บ้านแบบที่ 2 ราคาจะย่อมเยาลงมาถึงครึ่งหนึ่งของแบบแรก ส่วนแบบที่3 นั้นราคาไม่แพง แต่มักไม่ค่อยเห็นผล