ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ภาพจาก : www.pexels.com
แนะเลี่ยงพาเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ไปตามแหล่งชุมชน หรือ พื้นที่แออัด พบเสี่ยงต่อการป่วยวัณโรคมากสุด
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีที่พบเด็กอายุ 2 ปี 10 เดือน จ.แพร่ มีอาการไอ น้ำมูก มีประวัติสัมผัสกับญาติที่ป่วยเป็นวัณโรคและรพ.เด่นชัยตรวจพบว่ามีติดเชื้อที่ปอดข้างขวาแพทย์วินิจฉัยเป็นวัณโรค ว่า เด็กได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ส่วนผู้ร่วมบ้านทั้งหมดผลเอ็กซเรย์ปอดเป็นปกติ คัดกรองเพื่อร่วมชั้น 16 คน ครูประจำชั้น 2 คนและบุตรของครู 2 คน มีอาการสงสัย 4 คนอยู่ระหว่างการรอผลตรวจและค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในโรงเรียน และได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ร่วมกับโรงเรียน จัดประชุมชี้แจงผู้ปกครองสร้างความเข้าใจวัณโรค การรักษา การป้องกัน ทั้งนี้ วัณโรคเป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดปอดอักเสบและก่อให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบจนถึงแก่ชีวิตได้ เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เสี่ยงต่อการป่วยมากที่สุด
จากสถิติของสำนักงานระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปี 2558 ทั่วประเทศพบเด็กอายุ 0-5 ปี ป่วยเป็นวัณโรค 62 คน โดยเมื่อเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีรับเชื้อวัณโรคจะป่วยเป็นวัณโรคสูงถึงร้อยละ 50 ขณะที่ผู้ใหญ่มีโอกาสป่วยเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ดังนั้นหากบุคคลใกล้ชิดในบ้านป่วยเป็นวัณโรค ต้องพาเด็กในบ้านหรือเด็กที่สัมผัสกับผู้ป่วยวัณโรคไปพบแพทย์โดยเร็วไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ เพื่อตรวจวินิจฉัยวัณโรค และหากยังไม่ป่วยก็จะได้รับยาป้องกันการป่วยเป็นวัณโรค
นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัณโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า มัยโคแบคทีเรียม ทิวเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) เด็กที่เป็นโรคนี้ส่วนมากจะติดจากผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นวัณโรค ทางการไอ จาม หรือหายใจรดกัน โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่ที่ร่างกายแข็งแรง หากได้รับเชื้อร่างกายจะควบคุมเชื้อวัณโรคได้ แต่สำหรับเด็กเล็กซึ่งมีภูมิคุ้มกันไม่เท่าผู้ใหญ่ หรือขณะที่ได้รับเชื้อมีร่างกายอ่อนแอ หรือมีโรคประจำตัวก็จะทำให้ป่วยเป็นวัณโรคได้ง่าย ซึ่งจะมีอาการไข้ต่ำ ๆ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร โดยอาการทางปอดอาจไม่เด่นชัดนัก บางรายอาจจะมีก้อนที่คอจากต่อมน้ำเหลืองที่โตขึ้น หรือท้องใหญ่ขึ้นจากการที่มีตับหรือม้ามโต
สำหรับการป้องกันโรคนี้คือ หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปตามแหล่งชุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล หากสมาชิกในบ้านเป็นวัณโรค ให้พาลูกไปพบแพทย์ทันทีไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ เพราะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จะรับเชื้อได้ง่าย แพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัย รักษาและให้ยาป้องกันโรคได้ทันท่วงที การให้วัคซีนบีซีจี (BCG) ตั้งแต่แรกเกิด แม้จะสามารถช่วยป้องกันวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง แต่ยังมีโอกาสเป็นวัณโรคได้ นอกจากนี้ปัจจุบันมียารักษาวัณโรคที่ได้ผลดี โดยให้ยาร่วมกันหลายชนิด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและลดอัตราการดื้อยา ที่สำคัญคือต้องกินยาต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน และดูแลให้พักผ่อนอย่างเพียงพอ รับประทานอาหารที่มีโปรตีนและมีวิตามินสูง