ข้อมูลจาก : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
ภาพจาก : pixabay.com
เพราะการรังแกผู้ที่อ่อนแอกว่า หรือข่มเหงกัน ไม่ใช่สิ่งที่น่าภูมิใจ กรมสุขภาพจิตแนะ 5 ป้อง 5 หยุด ลดปัญหาเด็กแกล้งกันในโรงเรียน
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึง การกลั่นแกล้งหรือรังแกกันในโรงเรียน ว่า เป็นพฤติกรรมรุนแรงอย่างหนึ่งที่มีทั้งการข่มเหงรังแกทางกาย เช่น การผลัก ต่อย หยิก ดึงผม ใช้อุปกรณ์แทนอาวุธในการข่มขู่ การข่มเหงทางอารมณ์ เช่น การล้อเลียนหรือทำให้รู้สึกอับอาย การกีดกันออกจากกลุ่ม การเพิกเฉย ทำเหมือนไม่มีตัวตน การข่มเหงรังแกทางคำพูด เช่น การใช้คำหยาบคายหรือดูถูก เหยียดหยาม ล้อเลียนลักษณะภายนอกของเหยื่อในทางลบและการข่มเหงรังแกทางอินเตอร์เน็ต เช่น ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ กล่าวหาหรือใส่ความเหยื่อให้ได้รับความอับอาย เป็นต้น
ผลกระทบของการข่มเหงรังแกกันในโรงเรียน ทำให้เด็กที่ถูกรังแก มีอารมณ์ซึมเศร้าหรือวิตกกังวล เพิ่มความรู้สึกโดดเดี่ยว การกินการนอนผิดปกติ ไม่มีความสุขในการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ ซึ่งปัญหานี้อาจยังคงอยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้ จะมีอาการทางกาย เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ รวมถึง มีผลการเรียนลดลง หรือต้องออกจากโรงเรียน ตลอดจน มีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นผู้รังแกคนอื่นในอนาคต ขณะที่ เด็กที่ชอบรังแกผู้อื่นจะมีความเสี่ยงใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติดเมื่อเป็นวัยรุ่น รวมทั้ง ชอบทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สิน และอาจต้องออกจากโรงเรียน เสี่ยงทำผิดกฎหมาย ตลอดจนมีความเสี่ยงที่จะทำร้ายคู่สมรสและบุตรเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า การข่มเหงรังแก เป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก แต่มักถูกมองข้ามง่ายในสังคมไทย และพบว่าร้อยละ 40-80 ของเด็กวัยเรียนเคยถูกรังแกอย่างน้อย 1 ครั้งตลอดช่วงเวลาที่เป็นนักเรียน โดยอาจเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่าเด็กพิเศษมีความเสี่ยงที่จะถูกรังแกมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้มีระดับความต้านทานต่อแรงกดดันที่ต่ำ เมื่อต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ทำให้เครียดหรือกังวล เด็กกลุ่มนี้อาจแสดงอาการที่แตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ เช่น ตะโกนเสียงดัง แสดงท่าทางซ้ำๆ ซึ่งจะทำให้เป็นเป้าหมายของการถูกรังแก รวมถึงความล่าช้าของพัฒนาการบางด้านในเด็กกลุ่มนี้ อาจทำให้มีความยากลำบากในการสร้างสัมพันธภาพกับเพื่อน เช่น ในเด็กที่มีปัญหาการพูดจะทำให้การสื่อสารกับเพื่อนไม่ต่อเนื่อง หรืออาจแปลสิ่งที่เพื่อนพูดผิดไปจนทำให้เกิดอารมณ์ตามมา หรือในเด็กที่การเคลื่อนไหวไม่มั่นคง อาจเป็นอุปสรรคในการร่วมกิจกรรมบางอย่างที่โรงเรียน เช่น เตะบอล หรือวิ่ง และอาจทำให้เด็กถูกมองว่าอ่อนแอกว่าจนเป็นเหยื่อของการรังแกได้
ผอ.สถาบันราชานุกูล ได้แนะ 5 วิธีป้องกันลูกจากการถูกรังแก ดังนี้
1. ชวนลูกพูดคุยถึงการข่มเหงรังแก โดยยกประสบการณ์การถูกรังแกของคนในครอบครัวให้เด็กฟัง เพื่อให้เด็กเข้าใจว่าเหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ หากเคยเกิดขึ้นกับเด็กก็จะเป็นโอกาสให้เด็กเล่าให้ผู้ปกครองฟัง หากเด็กเล่าเรื่องนี้ ให้ผู้ปกครองชื่นชมในความกล้าหาญของเด็กที่พูดถึงเรื่องนี้ พร้อมกับให้กำลังใจเด็ก ปรึกษากับคุณครูที่โรงเรียนเพื่อหาวิธีการที่โรงเรียนจะรับรู้เรื่องนี้และให้การช่วยเหลือเด็ก
2. กำจัดตัวล่อของการถูกรังแก เช่น หากเด็กถูกข่มขู่เรียกเงินค่าอาหารกลางวันหรือของใช้ส่วนตัวก็ให้เด็กนำข้าวกล่องไปทานหรืองดให้เด็กพกของมีค่าไปโรงเรียน เป็นต้น
3. ให้ทำกิจกรรมโดยมีเพื่อนอยู่ด้วย อย่างน้อย 2 คนขึ้นไป ซึ่งมีโอกาสที่จะถูกรังแกได้น้อยกว่าการอยู่คนเดียว
4.ฝึกการแสดงออกทางอารมณ์และดำเนินชีวิตเป็นปกติ ไม่แสดงอารมณ์หรือปฏิกิริยาโต้ตอบต่อการกระทำนั้นๆ เพียงแต่บอกผู้รังแกว่าให้หยุดพฤติกรรมนั้น แล้วเดินห่างออกมา หากเด็กสามารถควบคุมอารมณ์ ไม่แสดงอาการ จะลดแรงจูงใจในการถูกรังแกได้
5.อย่าต่อสู้กับเรื่องนี้ด้วยตัวเองตามลำพัง พ่อแม่ควรพูดคุยกับผู้ปกครองของเด็กที่เป็นผู้รังแก โดยควรมีคุณครูหรือนักจิตวิทยาโรงเรียนเข้าร่วมพูดคุยด้วย
นอกจากนี้ ผอ.สถาบันราชานุกูล ยังได้แนะ 5 วิธี ช่วยลูกให้หยุดรังแกเพื่อน ได้แก่
1. สอนให้เด็กรู้ว่าการรังแกผู้อื่นเป็นพฤติกรรมรุนแรงที่ไม่ได้รับการยอมรับทั้งจากผู้ปกครองในบ้านและในสังคมภายนอก ตั้งกฎที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กจะถูกลงโทษหากรังแกเพื่อนและเข้มงวดกับกฎนั้น อาจลงโทษเด็กโดยการจำกัดสิทธิ์ในกิจกรรมที่เด็กชอบทำ เช่น งดใช้คอมพิวเตอร์ หรือ งดขนมที่เด็กชอบ
2. สอนให้เด็กเคารพสิทธิของผู้อื่นและปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม ตลอดจนสนับสนุนให้เด็กได้มีกิจกรรมร่วมกับเด็กที่มีความแตกต่างกับตัวเอง
3.หาข้อมูลเกี่ยวกับเหตุที่ทำให้เด็กรังแกเพื่อนทั้งในด้านครอบครัวและสิ่งแวดล้อมที่โรงเรียน เช่น มีเด็กคนอื่นที่ชอบรังแกเพื่อนอีกหรือไม่ เพื่อนๆของลูกมีพฤติกรรมนี้ด้วยหรือไม่ ลูกต้องเผชิญกับความกดดันใดหรือไม่ โดยปรึกษาคุณครู นักจิตวิทยาโรงเรียน หรือกลุ่มผู้ปกครองในการหาทางแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน
4.ชมเชยหรือให้รางวัล เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดี สามารถแก้ไขความขัดแย้งโดยใช้วิธีทางบวกและสร้างสรรค์
5. เป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็ก ไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะพูดหรือกระทำการใดๆกับเด็กในช่วงที่มีปัญหาหรือความขัดแย้งเกิดขึ้นในครอบครัว ถ้าผู้ปกครองแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อหน้าเด็ก เด็กจะมีพฤติกรรมเลียนแบบ ควรแสดงให้เด็กเห็นว่าการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร โดยผู้ปกครองสามารถบอกความรู้สึกของตัวเองในขณะนั้นและแสดงให้เด็กเห็นว่าควรจะจัดการต่ออารมณ์นี้อย่างไร เป็นต้น