ปรับพฤติกรรม ป้องกันท้องร่วง | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

ปรับพฤติกรรม ป้องกันท้องร่วง

Date : 22 August 2016

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
ภาพจาก : pixabay.com

สาธารณสุขจังหวัดเลย เผยพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูฝนนี้ แนะเลี่ยงอาหารสุกดิบ ล้างมือก่อนหยิบจับอาหารเข้าปาก

นายวิวรรธน์  ก่อวิริยกมล  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย  เป็นห่วงประชาชน พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูฝนนี้  จึงขอให้ดูแลเรื่องอาหาร และต้องล้างมือก่อนหยิบจับอาหารเข้าปากและจากข้อมูลของสำนักงานสาธารสุขจังหวัดเลย  ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 29 กรกฎาคม 2559 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ จำนวน 787 ราย อำเภอที่มีผู้ป่วยมากที่สุด คือ อำเภอภูเรือ 246 ราย รองลงมาคือ อำเภอท่าลี่ 115 ราย และอำเภอเมืองเลย 106 ราย

โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย  เช่น  เชื้อซาลโมเนลล่า  เชื้อราเห็ด หรือสารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร  สามารถติดต่อได้โดยการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ซึ่งมักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ จากเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น  เนื้อไก่  เนื้อหมู  เนื้อวัว  และไข่เป็ด  ไข่ไก่  รวมทั้งอาหารกระป๋อง  อาหารทะเล  และน้ำนมที่ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ  นอกจากนี้อาจพบในอาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ แล้วไม่ได้แช่เย็นไว้ ถ้าไม่ได้อุ่นให้ร้อนพอเมื่อรับประทานอาหารนี้เข้าไปก็จะทำให้เป็นโรคนี้ได้ อาการสำคัญคือ มีไข้  ปวดท้อง  เนื่องจากเชื้อโรคทำให้เกิดการอักเสบที่กระเพาะอาหารและลำไส้ 

นอกจากนี้ มีอาการปวดศีรษะ  ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว  คลื่นไส้  อาเจียน  อุจจาระร่วง  ซึ่งถ้าถ่ายมากจะเกิดอาการขาดน้ำและเกลือแร่ได้ และบางรายอาจมีอาการรุนแรง  เนื่องจากการติดเชื้อ และเกิดการอักเสบที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย  เช่น  ข้อ และกระดูก  ถุงน้ำดี  กล้ามเนื้อ  หัวใจ  ปอด  ไต  เยื่อหุ้มสมอง  และเมื่อเชื้อเข้าสู้กระแสโลหิตจะทำให้เกิดโลหิตเป็นพิษ  ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้  โดยเฉพาะเด็กทารก  เด็กเล็ก  และผู้สูงอายุ

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย  จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังโดยป้องกัน ดังนี้ รักษาความสะอาดเป็นหัวใจสำคัญ  โดยล้างมือก่อนจับอาหาร  ระหว่างเตรียมอาหาร  หลังออกจากห้องน้ำ  ล้างทำความสะอาดอุปกรณ์เตรียมอาหารและพื้นครัว  แยกอาหารสดออกจากอาหารที่ทำสุกแล้วเสมอ เพราะอาจมีการถ่ายเทเชื้อโรคจากอาหารดิบสู่อาหารสุกได้  ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึง  เก็บรักษาอาหารไว้ในอุณหภูมิที่พอเหมาะ  เก็บอาหารที่ปรุงสุกแล้วให้มิดชิดกันแมลงนำโรค  โดยเลือกอาหารสดที่มีคุณภาพ  บริโภคอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ร้อนๆ และไม่ใช้มือที่เป็นแผล  ฝี  หนอง  สัมผัสกับอาหาร  เพราะอาจทำให้เชื้อโรคในแผล  ฝี  หนอง  ปนเปื้อนลงในอาหาร  และสร้างสารพิษขึ้นมาในอาหารได้ ทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภค เลือกซื้ออาหารจากแผงลอยที่มีป้ายอาหารสะอาด รสชาติอร่อย ฯลฯ  เมื่อมีอาการเป็นโรคอาหารเป็นพิษ ให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ มีไข้  อาเจียนรุนแรง ต้องรีบนำส่งสถานบริการสาธารสุขทันที