5 วิธีรักษา "กลิ่นตัว" | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

5 วิธีรักษา "กลิ่นตัว"

Date : 25 August 2016

ข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ภาพจาก : pixabay.com

ปัญหา “กลิ่นตัวเหม็น” หากรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น การปรับพฤติกรรมแล้วแต่ยังไม่หายล่ะก็คงต้องเพิ่งเทคโนโลยีในการรักษาด้วยการปรึกษาแพทย์และวินิจฉัยสาเหตุการเกิดก่อน
ใครที่มีปัญหา “กลิ่นตัวเหม็น” คงกังวลใจน่าดู เพราะทำสารพัดวิธีแล้วก็ยังไม่หาย ถึงแม้ว่ามันจะไม่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็รบกวนการใช้ชีวิตในแต่ละวันไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอากาศร้อนอบอ้าวในบ้านเรายิ่งช่วยเร่งให้ มี “เหงื่อออก” และมี “กลิ่นเหม็น” ตามมา ทำให้ใครหลายคนขาดความมั่นใจจนไม่กล้าออกจากบ้านทีเดียว


การแก้ไขและป้องกัน “กลิ่นตัวเหม็น” นั้น เป็นสิ่งที่เราทุกคนพอจะทราบดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ การใช้โลออนหรือสารส้มป้องกันเหงื่อออก การฉีดน้ำหอมเพื่อลดกลิ่น แต่ก็ไม่ช่วยแก้ไขหรือป้องกันได้สำหรับทุกคน

โดย รศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา ประชาสัมพันธ์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ให้ความรู้ว่า ปัญหา “กลิ่นตัวเหม็น” เกิดได้จากหลายปัจจัย ซึ่งปัจจัยแรกมาจากการผลิตกลิ่นของร่างกายเราเอง ที่มี “ต่อมเหงื่อ” เพื่อระบายความร้อน โดย “ต่อมเหงื่อ” มี 2 ชนิด คือชนิดแรกอยู่ตามร่างกาย เวลาเราออกกำลังกายจะมีเหงื่อออกมา แต่ไม่มีกลิ่น ถือเป็นเรื่องปกติ

ส่วนอีกชนิดหนึ่งอยู่บริเวณรักแร้ อวัยวะเพศ หนังศีรษะ ตามซอกนิ้ว ง่ามนิ้ว “ต่อมเหงื่อ” ชนิดนี้เป็น“ต่อมเหงื่อ” พิเศษที่มีการขับไขมันหรือมีกลิ่นเฉพาะตัว ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นต้นตอการเกิดกลิ่น
แต่ว่าทำไมบางคนมีกลิ่นตัวและบางคนไม่มีล่ะ? อย่างที่เอ่ยไปข้างต้นว่า ปัญหา “กลิ่นตัวเหม็น”เกิดจากหลายปัจจัย ดังนั้นเราต้องมาดูว่าปัจจัยอื่นๆ ที่ว่านี้ คือ การรับประทานอาหารรสจัด เช่น กระเทียม เครื่องเทศเยอะๆ เหมือนคนอินเดีย การรับประทานกิมจิทุกวันเหมือนคนเกาหลีหรือไม่ ซึ่งอาหารประเภทนี้ทำให้ “ต่อมเหงื่อ” ที่ผลิตกลิ่น มีกลิ่นอาหารพวกนี้ปนออกมาด้วย
อีกปัจจัย คือเป็นโรคบางอย่าง เช่น โรคตับ ไต เบาหวาน ไทรอยด์ คนที่เป็นโรคเหล่านี้ร่างกายจะผลิตสารเคมีบางอย่างออกมาทำให้มีกลิ่นเฉพาะตัว นอกจากนี้อาจจะมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา ทำให้เกิดการหมักหมม หรือบางคนมีการขับเหงื่อออกมามาก กลิ่นพวกนี้ก็ออกมามากเช่นกัน ซึ่งการขับเหงื่อขึ้นอยู่กับระบบประสาทตัวหนึ่ง ที่ทำให้บางคนที่ตื่นเต้น เครียด ก็มีเหงื่อออกมามาก


ปัญหา “กลิ่นตัวเหม็น” หากรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น การปรับพฤติกรรมแล้วแต่ยังไม่หายล่ะก็คงต้องเพิ่งเทคโนโลยีในการรักษาด้วยการปรึกษาแพทย์และวินิจฉัยสาเหตุการเกิดก่อน โดยมีวิธีรักษา 5 วิธีหลักๆ ดังนี้
1. กินยาและทายาลดเหงื่อ เช่น ติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ทำให้เท้าเหม็น แพทย์จะให้ยาทาและกิน ส่วนกรณีที่เหงื่อออกแล้วมี “กลิ่นตัวเหม็น” แพทย์จะให้ยาที่มีสารอะลูมิเนียมคลอไรด์ เป็นส่วนประกอบประมาณ 20-25 เปอร์เซ็นต์ เหงื่อจะลดลง แต่ต้องทาหลายครั้งต่อเนื่อง ถ้าหยุดทาเมื่อไหร่เหงื่อก็จะออกอีก แต่มีผลข้างเคียงเล็กน้อย

2. ใช้เครื่องประเภทไอออนโตโฟเรซิส เหมาะกับคนที่เหงื่อออกบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้าเยอะๆ เพราะเป็นเครื่องที่ต้องแช่ลงในอ่าง แช่ครั้งละประมาณ 30 นาที ทำสัปดาห์ละครั้ง และทำไป 10 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นให้ต่อมเหงื่อทำงานลดลง แต่เครื่องมือเหล่านี้มีข้อจำกัด คือบริเวณรักแร้ไม่สามารถแช่ได้

3. การฉีดยาลดเหงื่อ คือ “โบทูลินั่ม ท๊อกซิน” หรือ ที่หลายคนรู้จักดีและเรียกว่า “โบท็อกซ์” ใช้ฉีดเพื่อลดรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า โดยยาตัวนี้จะฉีด 6 เดือนต่อครั้ง ฉีดประมาณ 1 จุดต่อตารางเซนติเมตร ซึ่งการฉีดบริเวณรักแร้ ประมาณ 20 - 30 จุด เพื่อลดการทำงานของต่อมเหงื่อ มีข้อดี คือฉีดครั้งเดียวแต่มีผลนานถึง 6 เดือน ปีหนึ่งทำเพียง 2 ครั้ง แต่ข้อเสีย คือค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง

วิธีที่ 4 ใช้เครื่องประเภทอัลตราซาวด์ ยิง จี้ ต่อมเหงื่อ โดยมีราคาแพงและเจ็บ แต่ได้ผลดีกว่าฉีด“โบท็อกซ์” เพราะบางคนอาจจะไปทำลายต่อมเหงื่อถาวร ส่วนเรื่องการระบายความร้อนก็ระบายทางอื่นแทน

วิธีที่ 5 การผ่าตัด เอาระบบประสาท เส้นประสาท ที่มาเลี้ยงตรงนั้นออก ถึงแม้จะไม่ส่งผลต่อการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต แต่มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก และเหมือนเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตน เราจะยอมโดนกรีดแขน-ขา แค่ต้องการลดเหงื่อหรือ?
ฉะนั้นยังมีทางให้เลือกอีกหลากหลายวิธี และสามารถหายขาดได้ แต่อย่าอายหมอ เพราะปัญหา “กลิ่นตัวเหม็น” ไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง