การตรวจสุขภาพประจำปีในผู้สูงอายุ | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

การตรวจสุขภาพประจำปีในผู้สูงอายุ

Date : 26 August 2016

ข้อมูลจาก : ศ.นพ.ประเสริฐ   อัสสันตชัย ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 
ภาพจาก : pixabay.com

ปัจจุบันประชาชนไทยมีอายุยืนขึ้น ผลจากการที่มีอายุมากขึ้น ย่อมมีสภาพร่างกายที่เสื่อมสภาพลงตามธรรมชาติเนื่องจากความชรา ระบบอวัยวะต่างๆจะทำงานด้อยประสิทธิภาพลง ทำให้อุบัติการณ์ของโรคต่างๆเพิ่มมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้นด้วย ผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยทางด้านร่างกายและด้านจิตใจ และนำไปสู่ปัญหาทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจของครอบครัวและส่วนรวมได้ ดังนั้น การตรวจสุขภาพ เป็นระยะๆ เพื่อตรวจพบความเจ็บป่วยใดๆ ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกในผู้สูงอายุจึงมีความจำเป็นมาก  
โรคที่อาจตรวจพบได้ในผู้สูงอายุจากซักประวัติและตรวจร่างกาย
                    - ความดันโลหิตสูง จากการวัดความดันโลหิตที่ต้นแขน
                    - โรคหลอดเลือดหัวใจ จากการซักประวัติ
                    - มะเร็งเต้านม จากการซักประวัติและตรวจเต้านม
                    - ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ จากการซักประวัติ
                    - การใช้ยาอย่างไม่เหมาะสมจนเกิดผลข้างเคียง จากการซักประวัติ
                    - การไม่สามารถที่จะออกไปพบปะสังคมกับผู้อื่น จากการซักประวัติ
                    - ภาวะหกล้มซ้ำซ้อน จากการซักประวัติ
                    - ภาวะทุพโภชนาการ จากการซักประวัติ
การตรวจหู
ภาวะหูหนวก หูตึง พบได้บ่อยมากประมาณร้อยละ 25 - 35 ในผู้สูงอายุ และพบมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในผู้สูงอายุ ได้แก่
                   - ภาวะประสาทหูเสื่อมจากอายุ ที่มีชื่อเรียกว่า Presbycusis
                   - หูชั้นนอกอุดกั้นจากขี้หูที่มีปริมาณมาก
                   - ภาวะประสาทหูเสื่อมจากการได้ยินเสียงดังมากๆ ในอดีต
ความผิดปกติอย่างแรกและอย่างที่สาม จำเป็นต้องได้รับการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษของแพทย์เฉพาะทางหู จึงยืนยันได้แน่นอน การรักษาจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยการได้ยินติดตัวไปกับผู้สูงอายุตลอดเวลา ซึ่งปัจจุบันยังมีราคาแพง การตรวจและรักษาปัญหาทั้ง 2 ดังกล่าว จึงยังไม่แพร่หลายในทางปฏิบัติ ส่วนภาวะหูตึงจากสาเหตุที่สองคือ หูชั้นนอกอุดตันจากขี้หู สามารถวินิจฉัยได้ง่ายจากการตรวจในหูชั้นนอกด้วยเครื่องมือที่ส่องเข้าไปดูคล้ายไฟฉาย และสามารถให้การรักษาได้เลย จึงเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุควรได้รับการตรวจเสมอ

การตรวจทางตา
ผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชนประมาณร้อยละ 10 จะมีโรคทางตา หรือความสามารถในการมองเห็นลดลงซ่อนเร้นอยู่ สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่
                  - โรคต้อกระจก
                  - โรคต้อหิน
                  - ภาวะประสาทจอรับภาพเสื่อม โดยเฉพาะในคนที่มีอายุมากๆ
                  - ภาวะสายตาสั้น หรือยาวผิดปกติ
ผู้สูงอายุที่มีต้อหิน ส่วนหนึ่งจะค่อยเป็นค่อยไป มักจะมาพบแพทย์ต่อเมื่อสายตามัวลงมากจนไม่สามารถแก้ไขกลับคืนมาได้ ถ้าสามารถได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรก อาจป้องกันภาวะตาบอดได้ ส่วนอีก 3 โรคที่เหลืออาจทำการตรวจคัดกรองด้วยการวัดสายตา โดยให้ผู้สูงอายุอ่านภาพตัวอักษรหรือดูรูปที่ห่างออกไป 6 เมตร ถ้าพบว่ามีความผิดปกติ แพทย์ก็จะส่งตัวผู้ป่วยไปพบจักษุแพทย์ต่อไป

การตรวจสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ
                 โรคทางจิตเวชที่พบบ่อยในผู้สูงอายุในชุมชนที่อาจซ่อนเร้นอยู่ มี 2 ภาวะคือ ภาวะซึมเศร้า (Depression) และภาวะสมองเสื่อม (Dementia) การตรวจเพื่อค้นหาภาวะดังกล่าว แพทย์จำเป็นต้องซักประวัติอย่างละเอียดทั้งจากตัวผู้สูงอายุเอง ญาติ และผู้ดูแลใกล้ชิด ซึ่งการตรวจเช่นนี้จะใช้เวลาพอสมควร และควรได้รับการตรวจโดยแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทาง การตรวจชนิดนี้ญาติหรือตัวผู้สูงอายุจำเป็นต้องเล่าถึงอาการทางจิตเวชด้วย ทั้งนี้ ต้องพิจารณาเป็นรายๆไป
โรคผิวหนัง
โรคผิวหนังที่พบบ่อยในผู้สูงอายุในชุมชน ได้แก่
                  - การติดเชื้อราที่ผิวหนัง โดยเฉพาะถ้าเป็นเบาหวานอยู่ด้วย
                  - ผื่นแพ้ยา
                  - ภาวะผิวแห้ง
                  - มะเร็งผิวหนัง


โรคเกี่ยวกับเหงือกและฟัน
ผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 50 ที่อยู่ในชุมชน มีโรคเกี่ยวกับเหงือกและฟันที่ซ้อนเร้นอยู่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือมีเศรษฐานะยากจน โรคที่พบบ่อย ได้แก่ ฟันผุ เหงือกอักเสบ หรือมะเร็งในช่องปาก วิธีตรวจเพื่อค้นหาภาวะดังกล่าวที่ดีคือ การให้ทันตแพทย์ตรวจสุขภาพในช่องปากเป็นระยะ
การตรวจภายในเกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์ในสตรี เพื่อเป็นการตรวจค้นหาก้อนเนื้องอกผิดปกติที่อาจพบได้ในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งพบสูงขึ้นตามอายุ ขณะเดียวกันผู้สูงอายุสตรีที่ไม่เคยได้รับการตรวจเซลล์ของปากมดลูกก็ควรได้รับการตรวจอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ถ้าปกติติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี สามารถลดความถี่ของการตรวจเป็นทุก 3 ปี
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ประกอบไปด้วยการตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ และอุจจาระ โดยทั่วไปวิธีการเหล่านี้สามารถตรวจพบโรคที่ซ้อนเร้นอยู่ในผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชน ได้เพียงร้อยละ 2 - 3การตรวจทางห้องปฏิบัติการจึงจำเป็นต้องปฏิบัติควบคู่ไปกับการซักประวัติ และตรวจร่างกายจากแพทย์เสมอ โรคที่พบได้บ่อยจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่
                  - ภาวะโลหิตจาง
                  - ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ
                  - โรคเบาหวาน
                  - โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
                  - ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ
                  - ต่อมไทรอยด์ทำงานลดลง
                  - ความผิดปกติของเกลือแร่ในกระแสเลือด โดยเฉพาะผู้ใช้ยาขับปัสสาวะหรือยาแก้ปวดข้ออยู่

หากท่านมีข้อสงสัยใดหรือต้องการรับการตรวจสุขภาพประจำปี กรุณาติดต่อได้ที่ แผนกการตลาด โทร : 084-716-5159  วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา  08.00-17.00 น.