เตือนหน้าฝนระวังป่วย "โรคปอดบวม" | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

เตือนหน้าฝนระวังป่วย "โรคปอดบวม"

Date : 31 August 2016

ข้อมูลจาก : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
ภาพจาก : pixabay.com

สธ.สมุทรปราการ เผย ปี 58  มีผู้ป่วยโรคปอดบวม  2,822 ราย  ราย เสียชีวิต  462 ราย  เตือนช่วงหน้าฝน ผู้สูงอายุและเด็กหมั่นดูแลสุขภาพ

นายแพทย์สวัสดิ์  อภิวัจนีวงศ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ช่วงฤดูฝนเตือนประชาชนระวังป่วยเป็นโรคปอดบวม โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กเล็ก แนะผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด ใหญ่ หากป่วย 3 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ไข้ไม่ลดลง น้ำมูกเปลี่ยนสีเขียวข้น หายใจหอบ ให้รีบพบแพทย์ทันที ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2558  มีผู้ป่วยโรคปอดบวม จำนวน 216,959 ราย เสียชีวิต จำนวน 462 ราย ในส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ปี 2558  มีผู้ป่วยโรคปอดบวม จำนวน 2,822 ราย  ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของโรคติดเชื้อทั้งหมด มักเป็นอาการแทรกซ้อนจากไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคอื่น ๆ เช่น หัด พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

โรคปอดบวมเป็นเกิดจากการติดเชื้อหลายชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส มักเป็นโรคแทรกซ้อนหลังป่วยไข้หวัดประมาณ 3 วัน โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูง ไอมีเสมหะ น้ำมูกเปลี่ยนสีจากสีเหลืองเป็นสีเขียวข้น เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบง่าย เด็กเล็กและผู้สูงอายุ อาจจะมีอาการเหล่านี้ไม่ชัดเจนหรือไม่ครบทุกอย่าง จึงควรให้ความสนใจมากกว่าปกติ เช่น ในผู้สูงอายุอาจจะมีไข้ หรือตัวอุ่นๆ และอาการซึมลง ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี จะมีไข้สูง ซึม ไม่ดื่มน้ำหรือนม หายใจหอบเร็ว หรือหายใจมีเสียงดังหวีด หรือหายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที จะช่วยลดอาการรุนแรงได้

การป้องกันโรคปอดบวม ขอให้ประชาชนรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สวมเสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น  ถ้าป่วยเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ขอให้พักผ่อนมาก ๆ ควรหยุดทำงาน หยุดเรียน อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น ให้ใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอหรือจาม หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งภายหลังสัมผัสผู้ป่วยหรือสิ่งของ หากมีข้อสงสัยปรึกษาได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง