เมื่อลูกพูดช้า | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

เมื่อลูกพูดช้า

Date : 6 September 2016

ข้อมูลจาก : อ.พญ.พัฏ  โรจน์มหามงคล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาพจาก : pixabay.com

ปัญหาเรื่องลูกพูดช้าอาจสร้างความกังวลให้กับพ่อแม่หลายท่าน ปัญหานี้รับมือได้ ด้วยการเลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิด ร่วมกับการสังเกตพฤติกรรมของเด็ก

เด็กพูดช้าเกิดจากสาเหตุใด    

พัฒนาการของเด็กมีหลายด้าน  ได้แก่  ด้านกล้ามเนื้อ  ด้านภาษา  ด้านสังคม และการช่วยเหลือตัวเอง สาเหตุที่ลูกพูดช้ามีได้ดังนี้

1. เด็กมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้าอย่างเดียว

2. เด็กมีพัฒนาการโดยรวมล่าช้ารวมถึงพัฒนาการด้านภาษาด้วย

3. ภาวะออทิสติก   

4. ปัญหาเรื่องการรับรู้ เช่น เด็กมีปัญหาการได้ยิน

5. เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้รับการกระตุ้นทางด้านภาษามากเท่าที่ควรก็จะมีผลพัฒนาการด้านภาษาของเด็กไปด้วย

อาการแบบไหนถึงจะเรียกว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับการพูด

ควรสงสัยพัฒนาการทางภาษาล่าช้าเมื่อเด็ก อายุ 15 เดือนแล้วยังไม่สามารถพูดคำที่มีความหมายเลย หรืออายุ 18 เดือน ยังพูดคำที่มีความหมายได้ไม่ถึง 3 คำ โดยไม่นับรวมชื่อคนหรือสัตว์เลี้ยงที่คุ้นเคย  โดยทั่วไป เราถือว่าเมื่ออายุ 2 ขวบแล้ว  ยังพูดคำที่มีความหมายไม่ได้เลย หรือพูดได้แค่คำศัพท์คำเดียว หรือสื่อสารกับคนอื่น ๆ ไม่ได้ ก็ถือว่าผิดปกติแน่นอน แต่ก็ไม่ควรรอจน 2ขวบ แล้วค่อยมาปรึกษาแพทย์ เพราะฉะนั้น ถ้าพ่อแม่สังเกตเห็นถึงพัฒนาการทางภาษาไม่เป็นไปตามปกติ หรือไม่เหมือนเด็ก ๆ คนอื่น ๆ ก็ควรจะไปขอคำปรึกษากับแพทย์ได้

พัฒนาทางการภาษา สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ทาง คือ การพูด และการรับฟัง ซึ่งจะต้องพัฒนาการควบคู่กันไป ดังนั้นการที่พ่อแม่จะดูว่าเด็กปกติหรือไม่ นอกจากสังเกตการพูดสื่อสารของเด็กแล้ว ยังสามารถดูจากความเข้าใจคำศัพท์ของเด็ก เช่น เด็กสามารถทำตามคำสั่งได้หรือไม่ เด็กมีความสนใจหรือไม่ เรียกชื่อแล้ว เด็กหันมารับทราบ หรือตอบรับหรือไม่

เมื่อใดควรพบแพทย์ และจะรักษาได้อย่างไร

เมื่อสงสัยว่าลูกพูดช้า พ่อแม่ควรพาลูกไปพบกุมารแพทย์ทันที  โดยกุมารแพทย์จะสอบถามข้อมูล ตรวจร่างกายและประเมินพัฒนาการอย่างละเอียดเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ และรักษาไปตามสาเหตุ รวมทั้งแนะนำวิธีการกระตุ้นพัฒนาการที่พ่อแม่จะสามารถทำได้เองที่บ้านร่วมกับส่งต่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อกระตุ้นพัฒนาการเด็กต่อไป

ในการกระตุ้นพัฒนาการทางภาษาให้กับเด็ก พ่อแม่มีความสำคัญอย่างมาก  โดยเฉพาะการออกเสียงให้ชัดเจน เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก หากลูกยังพูดไม่เป็นคำ พ่อแม่สามารถพูดกับเขาในสิ่งที่เขาสนใจในชีวิตประจำวัน เช่น ถ้าเขาอยากจะกินนมแล้วชี้ไปที่นม พ่อแม่ควรพูดคำว่า “นม” ก่อนส่งนมให้เขา นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการทางภาษา  เช่น การอ่านนิทานและการร้องเพลงกับเด็ก

กล่าวโดยสรุปคือ   บุคคลที่สำคัญที่สุดในการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาของเด็กก็คือ พ่อแม่ และบุคคลใกล้ชิดกับเด็ก เช่น คนในครอบครัว คุณครู และเพื่อนที่โรงเรียน การเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดร่วมไปกับการสังเกตพฤติกรรมของเด็กเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย เพราะหากเด็กได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้องจะช่วยเรื่องการพูดได้ดี  การดูสื่อจอภาพซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว โดยไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน ไม่สามารถช่วยเรื่องการพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็ก ดังนั้นพ่อแม่จึงควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กดูสื่อจอภาพ หรือพยายามอย่าให้ดูเกินวันละ 2 ชั่วโมง และไม่ควรปล่อยให้เด็กดูสื่อจอภาพเพียงลำพัง