ข้อมูลจาก : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ภาพจาก : pixabay.com
คนเราไม่สามารถรู้ได้ล่วงหน้าว่าโรคภัยจะมาเยือนเราเมื่อไหร่ รุนแรง หรือหนักแค่ไหน แต่เราจะรู้เมื่อมันเริ่มลุกลามในร่างกายเรามากขึ้น ส่งผลกระทบการทำงาน สุขภาพ และสังคม ยิ่งถ้าเป็นโรคที่ร้ายแรงอย่างโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทและสมองแล้ว ยิ่งมีอันตรายถึงชีวิต และยากที่จะแก้ไขได้ทัน การที่จะรักษาให้หายและกลับมาเป็นปกติก็มีน้อยมากถ้าลองสังเกตความผิดปกติของร่างการตัวเองสักนิด อาจจะสามารถป้องกันโรคต่างๆ เหล่านี้ได้
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมา อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ความรู้ไว้ว่า โรคหลอดเลือดในสมอง เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยมาก และปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ องค์การอัมพาตโลก เปิดเผยว่า ในแต่ละปีพบประชากรทั่วโลกเป็นสาเหตุของความพิการหรือเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ โดยโรคดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. โรคหลอดเลือดสมองตีบ ที่เกิดจากความผิดปกติของเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมอง เกิดการตีบหรืออุดตัน สาเหตุมาจาก การที่ผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงเช่น เป็นเบาหวาน มีความดันโลหิตสูง บริโภคอาหารที่มีไขมันสูง สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกายมีภาวะเลือดข้น โดยสะสมมาเป็นเวลานานจะทำให้ผนังหลอดเลือดหนาและแข็งตัว เกิดการตีบและอุดตัน ทำให้สมองขาดเลือด และเป็นอัมพาตได้
2. โรคหลอดเลือดสมองแตก เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบาง ร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณที่เปราะบางนั้นโป่งพองหรือที่เรียกว่าโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง ซึ่งถือเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เส้นเลือดในสมองแตกได้
โดยส่วนใหญ่จะพบมากในผู้สูงอายุ มากกว่าในเด็ก และยังพบว่าผู้หญิงเป็นได้มากกว่าผู้ชายซึ่งกลุ่มคนที่มีปัจจัยเสี่ยงได้แก่ ผู้สูงอายุ สูบบุหรี่ ผู้ป่วยโรคความดัน โลหิตสูง ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ผู้ที่ใช้สารเสพติด เช่น โคเคนผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุบริเวณศีรษะอย่างรุนแรงผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งโรคดังกล่าวนี้ยังสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้อีกด้วย
อาการของโรคคือ เป็นความผิดปกติทางระบบประสาท ที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการปวดหัวขั้นรุนแรงที่สุด แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เน้นว่าหากเส้นเลือดยังไม่แตกก็จะยังไม่มีอาการ หรือถ้ามีเพียงเลือดไหลซึมออกมา เด่นชัดคือจะมีอาการปวดศรีษะ จะค่อยๆ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และเป็นแบบทันทีทันใด ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ตามัว ชัก หนังตาตก สับสน หมดสติ ควรรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที เพราะไม่เช่นนั้นผู้ป่วยอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ถึงแม้โรคนี้จะไม่สามารถป้องกันได้แต่สามารถลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้ เช่น งดสูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด หรือการออกแรงหนักบ่อยๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ สัญญาณเตือนที่พบได้บ่อย และควรระวัง คือ แขนหรือขาอ่อนแรงครึ่งซีกหน้าเบี้ยวครึ่งซีก เหน็บวาตามร่างกายครึ่งซีก พูดไม่ได้ พูดไม่ได้ สำลัก เห็นภาพซ้อน สับสน ซึมลง เวียนศีรษะ ปวดต้นคอ คลื่นไส้อาเจียน เดินเซ ซึ่งอาการที่ว่ามานี้ จะเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน หากเจอผู้ป่วยในลักษณะเหล่านี้ พยายามให้นอนราบเพื่อให้เลือดไหลเวียน และไม่ควรป้อนน้ำ ยา หรืออาหาร อาจจะรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ให้เร็วที่สุดก็ได้
แนวทางในการลดความเสี่ยงของโรคเหล่านี้คือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และเหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด ไขมันสูง ควรทานผักและผลไม้ให้มากๆ ควบคุมระดับความดันโลหิต ไขมัน และน้ำตาลในเลือด ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ควรตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงในกรณีผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้ว ต้องได้รับการรักษาและทานยา ต้องทำตามคำแนะนำที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีก