เรื่องโดย : เสาวลักษณ์ พิสิษฐ์ไพบูลย์ team content www.thaihealth.or.th
ภาพจาก : pixabay.com
ปัจจุบันการกินเจได้รับความนิยมมากขึ้น คนส่วนใหญ่ก็มักจะฝากท้องไว้กับอาหารเจนอกบ้าน หรืออาหารเจสำเร็จรูป แต่ถึงแม้ว่าอาหารเจจะเป็นอาหารสุขภาพ แต่หากเราบริโภคไม่ได้สัดส่วน หรือไม่ถูกหลักโภชนาการแลัว ก็มีโอกาสที่จะเกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้
เนื่องจากอาหารเจ มักทำมาจากแป้งเป็นหลัก และมีน้ำมันเป็นส่วนประกอบอยู่มาก ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ ดังนั้น การเลือกกินอาหารเจ จึงไม่ควรเลือกเพียงรสชาติอร่อยเท่านั้น หากยังต้องได้สุขภาพที่ดีตามมาด้วย เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการกินอาหารเจสูงสุด เรามีเทคนิคจาก คุณรุ่งฉัตร อำนวย นักกำหนดอาหารวิชาชีพ ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาฝากดังนี้ค่ะ
1.อาหาร
การกินเจครบ 5 หมู่ ควรเลือกใช้วัตถุดิบ และแหล่งโปรตีนที่หลากหลายในทุกมื้อ เช่น เต้าหู้ ข้าวกล้อง ถั่ว เห็ด งา เพื่อให้ได้กรดอะมิโนครบถ้วน และหากในเมนูนั้นมีผักควบคู่ไปด้วยก็จะดีมาก เช่น ผัดหมี่ 1 จาน ควรเพิ่มผักในปริมาณมากขึ้น และลดปริมาณเส้นลงก็จะพอดีกับความต้องการของร่างกาย
กินเจลดหวาน อิ่มบุญได้สุขภาพ
นอกจากนี้ ควรเลี่ยงอาหารทอด และเน้นกินอาหารนึ่ง ต้ม ตุ๋น และพยายามปรุงรสให้น้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นซีอิ๊ว น้ำมันหอยสูตรเจ น้ำตาล เกลือ และซอสชนิดต่างๆ ควรใส่ให้น้อยที่สุด หรือหากไม่ใส่เลยก็จะดีมาก เพราะในเครื่องปรุงรสแทบทุกชนิดส่วนใหญ่จะมีโซเดียม น้ำตาล หรือไขมันผสมอยู่ และหากปรุงรสในอาหารเจมากๆ ก็จะทำให้เสี่ยงต่อภาวะโซเดียมสูง เกิดอาการบวม และเสี่ยงต่อเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคความดัน ไต หรือเส้นเลือดในหัวใจตีบ เป็นต้น
2.ขนมเจ
อาหารช่วงเทศการกินเจมักจะจืดชืดไม่ค่อยถูกปากเท่าไร บางคนจึงอาจกินอาหารคาวน้อย แล้วไปกินขนมหวานแทน ซึ่งขนมในเทศกาลกินเจ ส่วนใหญ่จะเป็นขนมรสหวานจัด จึงควรลดปริมาณการกินลง ให้กินเป็นของตบท้าย หรือเป็นมื้อว่างระหว่างวันแทน สิ่งสำคัญคือต้องเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริโภคว่าเป็นเพียงแค่การชิมก็พอ หากอยากกินก็ให้ลดข้าวหรืออาหารคาวก่อนแล้วจึงค่อยกิน เพราะขนมหวานเหล่านี้จะทำให้น้ำหนักขึ้น ดังนั้นทางที่ดีควรกินในปริมาณพอเหมาะแล้วหันมากินผลไม้จะดีกว่า
3.เครื่องดื่มเจ
เครื่องดื่มช่วงกินเจ โดยเฉพาะในน้ำเต้าหู้ จะมีน้ำตาลมากอยู่แล้ว ส่วนใหญ่น้ำเต้าหู้ที่ขายถุงละ 7-8 บาท มักจะมีปริมาณน้ำตาลทรายอยู่ 1.50 -2 ช้อนโต๊ะ เท่ากับ 4.5-6 ช้อนชา อาจจะลองซื้อแบบน้ำตาลน้อย หรือไม่ใส่เลยได้ยิ่งดี และนมถั่วเหลืองแบบกล่องที่เป็นสูตรหวานน้อยก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง หรืออาจจะพยายามจิบน้ำบ่อยๆ ทุกชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นน้ำเปล่า น้ำแร่ หรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ให้หวานพอดี แคลอรีต่ำ โดยมีน้ำตาลรวมไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน (ประมาณ 25 กรัม)
4.ผักและผลไม้
กินเจลดหวาน อิ่มบุญได้สุขภาพ
เทศกาลกินเจสามารถเพิ่มมื้อว่างเติมพลังระหว่างวัน ได้ด้วยผลไม้สดที่หวานน้อย พลังงานต่ำ มีวิตามิน และใยอาหารสูง เช่น แก้วมังกร แอปเปิ้ล สับปะรด กล้วย มะละกอ ซึ่งผลไม้ช่วงกินเจ เป็นผลไม้ที่ไม่ได้มีปริมาณน้ำตาลสูงอยู่แล้ว ยกเว้นผลไม้หน้าร้อน ขึ้นอยู่กับปริมาณการกินมากกว่า โดยแนะนำให้กินเป็นอาหารว่างระหว่างวัน แต่ไม่ควรทานผลไม้แก้หิวแทนมื้ออาหารนั้นๆ
นอกจากนี้ ควรกินผักให้ครบทั้ง 5 สี เช่น สีแดง ขาว เขียว ส้ม เหลือง ม่วง โดยสลับเปลี่ยนหมุนเวียนนำมากินในแต่ละวันไม่ซ้ำกัน และไม่ควรเลือกเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งที่ตัวเองชอบ อีกทั้งควรกินผักสดมากกว่าผักดอง เพราะผักสดมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าผักดอง
สัดส่วนการกินผลไม้
ฝรั่ง = ½ ลูก
ส้ม = 1 ผล
มะละกอ = 7ชิ้นคำ
กล้วยน้ำว้า = 1ผล
แอปเปิล = 1 ผล
ภัยของการบริโภคน้ำตาลที่มากเกินความจำเป็น นำมาซึ่งโรคไม่ติดต่อต่างๆ มากมาย ทั้งเบาหวาน โรคอ้วน ซึ่ง สสส. เองก็ได้สร้างความตระหนักรู้และชี้ให้เห็นโทษภัยมาโดยตลอด แต่อย่างไรก็ตาม กินเจปีนี้นอกจากได้อิ่มบุญและสุขภาพที่ดีกันแล้ว อย่าลืมขยับกายเคลื่อนไหวให้เหงื่อออกทุกวัน เพื่อร่างกายที่แข็งแรงได้อยู่กับคนที่เรารักไปนานๆ