ข้อมูลจาก : รศ.นพ.ดำรัส ตรีสุโกศล
ภาพจาก : pixabay.คอม
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นปัญหาที่คุกคามสุขภาพคนทั่วโลก โดยเฉลี่ยแล้วจะพบในผู้ชายที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และผู้หญิงที่อายุ 60-65 ปี ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกและเหนื่อยง่าย ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน หรือไขมันสะสม ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูงหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเหมาะสม ซึ่งอดีตที่ผ่านมาโรคนี้สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยา และการผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ
แต่ในปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ของไทยกำลังก้าวสู่มาตรฐานสากล มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอย่างได้ผล ด้วยการใช้สายสวนผ่านทางหลอดเลือดแดงไปยังหลอดเลือดหัวใจโดยตรง หรือที่เรียกว่า “การทำบอลลูน” วิธีนี้ได้รับความนิยมไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาด้วยวิธีนี้และหายเป็นปกติเป็นจำนวนมากโดยมีการนำเทคโนโลยีของขดลวดค้ำยันผนังหลอดเลือดหัวใจชนิดเคลือบยาต้านการตีบซ้ำไปใช้แทนขดลวดแบบเดิมที่ไม่สามารถป้องกันการตีบซ้ำได้
ด้วยประสิทธิภาพความพร้อมด้านบุคลากรแพทย์ และเครื่องมือสมัยใหม่ของคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงสามารถรักษาผู้ป่วยด้วยการทำบอลลูนได้เป็นจำนวนมาก ภายในระยะเวลาเพียง 10 เดือน ตั้งแต่ 1 มกราคม 2546 – 31 ตุลาคม 2546 สามารถทำบอลลูนครบ 1,000 ราย จึงนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่การแพทย์ของไทยก้าวเข้าสู่มาตรฐานโลกได้เทียบเท่ากับประเทศในตะวันตก
สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการทำบอลลูนจนหายเป็นปกติแล้ว จะต้องปฏิบัติตัวตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ งดสูบบุหรี่ จำกัดอาหารไขมัน หากมีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต้องควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้โรคอันไม่พึงประสงค์กลับมาถามหาอีก