ข้อมูลจาก : อ.พญ.ศศิธร จันทรทิณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาพจาก : pixabay.com
การเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กฉลาดและดี พ่อแม่คือส่วนสำคัญที่สุดที่จะกำหนดพฤติกรรมและท่าทีของลูก วันนี้ มีเคล็ดลับการสอนให้รู้จักคิดเป็นการพัฒนาที่ทำให้เด็กฉลาด และเป็นคนดีด้วย
การสอนลูกให้รู้จักคิด คือการสอนทักษะชีวิตอย่างหนึ่งในการทำความเข้าใจสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัว มีความคิดเห็นและท่าทีที่เหมาะสมต่อสิ่งนั้นๆ หรือเหตุการณ์นั้นๆ ซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินชีวิตที่ฉลาดและดีงาม การพัฒนาทักษะทุกอย่างเกิดจากการทำซ้ำอย่างต่อเนื่อง เรียนรู้จากความผิดพลาด จนกลายเป็นความรู้ความชำนาญในเรื่องนั้นๆ กระบวนการคิดและการแสดงความคิดเห็นก็เช่นกัน เพราะสมองยิ่งได้ใช้ ได้คิดมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งพัฒนาไปได้มากขึ้นเท่านั้น การเปิดโอกาสให้ลูกคิดและแสดงออก มีขั้นตอนเริ่มต้นง่ายๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนทำได้ คือ การฟังลูกให้มาก
การฟังที่จะช่วยให้ลูกได้ฝึกคิด เริ่มจาก การให้ความสนใจเต็มที่ เมื่อพูดคุยหรือเล่นกับลูกโดยตั้งใจฟังลูกด้วยความกระตือรือร้น ซึ่งเด็กจะรับรู้ได้จากสีหน้า แววตาและท่าทางของพ่อแม่ เมื่อลูกแสดงความคิดเห็นก็ควรฟังโดยไม่ด่วนตัดสินผิดถูก แต่ทำความเข้าใจและชวนให้ลูกคิดต่อ หรือสังเกตเพิ่มเติมจากสถานการณ์จริง การฟังลูกให้มาก เป็นการแสดงความสนใจที่มีประสิทธิภาพมาก พฤติกรรมไหนที่ได้รับความสนใจ พฤติกรรมนั้นก็จะมากขึ้น ลูกจึงชอบคิด ชอบบอกให้รู้ว่าเขาคิดอะไรมากขึ้น
การที่จะมีโอกาสฟังลูกได้มาก พ่อแม่ก็ต้องให้เวลาในการพูดคุยและเล่นกับลูกให้มากด้วย การ ใช้เวลากับลูก อาจทำได้ผ่านการทำกิจวัตรประจำวัน การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง การเล่นกับลูกตามวัยและการร่วมกิจกรรมหรือการพาไปดูสิ่งแปลกใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้เพิ่มพูนประสบการณ์ที่หลากหลายแล้ว ลูกยังได้เรียนรู้จากการเห็นมาก สัมผัสมาก ทำมาก ย่อมทำให้ลูกได้พัฒนาแนวคิดอย่างหลากหลายด้วย ทำให้สติปัญญาดีขึ้น นอกจากนี้ การใช้คำถามกระตุ้นให้คิด โดยเริ่มตั้งแต่คำถามให้สังเกต ทบทวนความจำ หรือบอกความหมาย ไปจนถึงคำถามที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การให้เปรียบเทียบ ให้อธิบายหรือให้บอกขั้นตอนหรือเหตุผล
ทั้งนี้การสนับสนุนให้ลูกเรียนรู้ ต้องรู้ใจลูกด้วย รู้ใจหมายถึง รู้ลักษณะพัฒนาการตามวัย การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย และลักษณะเฉพาะตัวของลูกเรา ลูกอาจจะเป็นเด็กที่เคลื่อนไหวเยอะ ชอบกิจกรรมทางร่างกาย หรือลูกเป็นเด็กที่ค่อยๆ คิด ค่อยทำ ดังนั้นพ่อแม่ก็ต้องปรับกิจกรรมและความ
คาดหวังให้เหมาะกับลูกด้วย นอกจากนี้พ่อแม่อาจอ่านอาการของลูกว่า ลูกเริ่มเบื่อแล้ว หรืออาจไม่พร้อมคุยหรือเรียน จะเห็นว่าการจะรู้ใจลูกได้ ก็ต้องหมั่นสังเกตอารมณ์ของลูก ฟังลูกให้มาก บางครั้งพ่อแม่ไม่ได้ “รู้ใจ” ลูก แต่กลับ “เดาใจ” ลูก มักคิดแทนลูกไปเสียทุกเรื่อง โดยคิดว่าถ้าเราชอบหรือรู้สึกเช่นนั้น ลูกก็น่าจะชอบและคิดเช่นเดียวกันด้วย
นอกจากนี้ การส่งเสริมให้ลูกได้เรียนรู้ยังหมายถึง การให้ลูกได้ลงมือทำด้วยตัวเองตามกำลังความสามารถ โดยพ่อแม่เป็นฝ่ายสนับสนุนให้กำลังใจ ซึ่งทำได้ไม่ยาก ด้วยการตั้งความคาดหวังต่อพฤติกรรมที่สอดคล้องกับพัฒนาการ อดทน ให้เวลากับการทำซ้ำๆ และไม่ตำหนิ ติเตียนเมื่อผิดพลาด แต่อาจช่วยให้ลูกได้รับผิดชอบเมื่อลูกทำผิดตามสมควร การให้ลูกเรียนรู้สิ่งที่ทำได้ ทำไม่ได้ ให้รู้จักเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ ผู้อื่นตั้งแต่ยังเล็ก จะช่วยฝึกให้ลูกพัฒนาคุณธรรมพื้นฐานและการควบคุมตัวเอง ไม่ควรช่วยเหลือมากเกินไป เพราะกลัวลูกเหนื่อย การให้ลูกรอคอยในชีวิตประจำวันตามธรรมชาติ เช่น การต่อคิว การมีกิจวัตรประจำวันที่สม่ำเสมอ จะช่วยให้ลูกเชื่อมโยงความคิดกับการกระทำได้ทีละน้อย การที่ลูกแยกความคิดกับการกระทำได้ รอคอยได้ จะช่วยพัฒนาทักษะการคิดก่อนทำ ที่เป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาด้านคุณธรรม
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ลืมไม่ได้ในการสอนเด็ก คือ การที่ผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างที่ดีสม่ำเสมอ และการสร้างบรรยากาศที่สงบ ปรองดองในครอบครัว จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพมากที่สุด