ข้อมูลจาก : พิชานันท์ ลีแก้ว สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพจาก : pixabay.คอม
กาแฟ (coffee) เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และได้เข้ามามีบทบาทหรือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของใครหลายๆ คน นั่นเป็นเพราะว่า หลังจากดื่มกาแฟแล้ว จะทำให้เกิดความรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า และช่วยทำให้หายง่วงซึมในขณะที่เรียนหรือทำงาน อีกทั้งยังมีรูปแบบในการนำเสนอหรือวิธีการชงเพื่อให้ได้รสชาติที่หลากหลาย และผลจากการตระหนักถึงสุขภาพของมนุษย์เราที่มีมากขึ้น จึงได้มีการศึกษาทางระบาดวิทยาจำนวนมากเพื่อหาความสัมพันธ์ของพฤติกรรมการ ดื่มกาแฟกับผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ความเสื่อมของระบบประสาท การเสื่อมของกระดูก อันตรกิริยาต่อยาแผนปัจจุบัน และความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เป็นต้น
จากการรวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพฤติกรรมการดื่มกาแฟต่อการ เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าผลงานวิจัยส่วนใหญ่ให้ผลเชิงบวกคือมีแนวโน้มลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบา หวาน (1-7) โดยสันนิษฐานว่าเป็นผลมาจากสารสำคัญในเมล็ดกาแฟที่ชื่อว่า กรดคลอโรจีนิก (chlorogenic acid) (8) ส่วนการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการดื่มกาแฟกับโรคที่เกิดจากความเสื่อมของ ระบบประสาทซึ่งได้แก่ โรคพาร์คินสันและโรค อัลไซเมอร์พบว่า การดื่มกาแฟมีแนวโน้มช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพาร์คินสันในเพศชาย (9) และผู้ที่ดื่มกาแฟตั้งแต่มีอายุอยู่ในช่วงวัยกลางคนมีแนวโน้มที่จะป่วยเป็น โรคความจำเสื่อมเมื่อมีอายุย่างเข้าสู่วัยสูงอายุน้อยกว่าผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟ เลย (10) และในการศึกษาความสัมพันธ์ของดื่มกาแฟกับภาวะความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ได้แก่ มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (11-13) มะเร็งเต้านม (14-15) มะเร็งรังไข่ (16-17) และมะเร็งตับ (18-19) มีทั้งผลเชิงบวกคือมีแนวโน้มลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง และไม่มีความสัมพันธ์ทางสถิติต่อการเกิดโรค จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการดื่มกาแฟจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค มะเร็งดังกล่าวได้ นอกจากนี้ผลจากการศึกษาความสัมพันธ์ของการดื่มกาแฟกับการสะสมและการเสื่อม ของกระดูกพบว่า การดื่มกาแฟไม่เกินวันละ 3 ถ้วย (ได้รับคาเฟอีนไม่เกิน 300 มก.) ต่อวัน อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุนและกระดูกสะโพกหักได้ (20)
ผลการวิจัยเกี่ยวกับการดื่มกาแฟกับสุขภาพที่รวบรวมได้ทั้งหมดเป็นผลการสำรวจ ข้อมูลจากต่างประเทศ ซึ่งผลการศึกษาที่ได้จะต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แม้ว่าเป็นโรคชนิดเดียวกัน นั่นเป็นเพราะว่า พฤติกรรมหรือวิธีการเตรียมกาแฟเพื่อดื่มในแต่ละท้องที่มีความนิยมที่แตกต่าง กัน และสายพันธุ์กาแฟในแต่ละพื้นที่ก็มีผลต่อปริมาณสารสำคัญในเมล็ดกาแฟอีกด้วย ดังนั้นในการดื่มกาแฟเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ จึงมักอ้างอิงปริมาณสารออกฤทธิ์ที่สำคัญในเมล็ดกาแฟ ซึ่งก็คือคาเฟอีนมาเป็นตัวกำหนดปริมาณการดื่มกาแฟหรือแม้แต่เครื่องดื่มชนิด อื่นๆ ที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ ซึ่งขนาดที่แนะนำคือ ไม่ควรเกินวันละ 300 มก. หรือเท่ากับกาแฟประมาณ 1-2 ถ้วย (ปริมาณกาแฟ 1 ถ้วยเท่ากับ 150 มล. และมีคาเฟอีนเฉลี่ย 115 มก.ต่อถ้วย) หากมีความสนใจหรือต้องการทราบข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับการดื่มกาแฟกับสุขภาพ โดยละเอียด สามารถติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ในจุลสารข้อมูลสมุนไพรฉบับ 30(4) ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล