ผักแปม สมุนไพรปรับสมดุล | Pattaya City Hospital | โรงพยาบาลเมืองพัทยา เราพร้อมดูแลคุณ

Health Article

บทความเรื่องสุขภาพ

ผักแปม สมุนไพรปรับสมดุล

Date : 23 December 2016

ข้อมูลจาก : อาจารย์ ดร.ปองทิพย์ สิทธิสาร ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพจาก : smileconsumer.com

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ การเจริญเติบโตของสังคมเมืองและเทคโนโลยี ทำให้คนเรามีความสะดวกสบายในชีวิตประจำมากขึ้น พร้อมๆไปกับการต้องเผชิญกับความเครียดทั้งจากการทำงานอย่างเร่งรีบและแข่ง ขัน รวมทั้งความเสี่ยงที่จะได้รับสารพิษหรือสารก่อโรคจากมลภาวะในสิ่งแวดล้อมและ เครื่องอุปโภคบริโภค ทำให้ร่างกายต้องพยายามปรับตัวและรักษาสมดุลให้อยู่ในสภาวะที่ดีอยู่เสมอ การได้รับสารที่ส่งเสริมให้ร่างกายมีสุขภาพดี จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้คนในยุคนี้ เป็นที่มาของคำว่า “สารปรับสมดุล” (adaptogens) ที่จะช่วยให้ร่างกายปรับสภาพให้สามารถทนทานความเครียดทั้งทางกายภาพ ชีวภาพ และอารมณ์

มีผู้ให้คำจำกัดความของสารปรับสมดุลไว้หลายประการเช่น หมายถึงสารที่เพิ่มความสามารถของร่างกายในการปรับตัวให้เข้ากับความเครียด ที่แวดล้อมและภายในร่างกาย โดยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ระบบประสาทและการทำงานของต่อมต่างๆภายในร่างกาย เพิ่มความทนทานของอวัยวะต่างๆต่อความเครียด พยาธิสภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงรักษาการทำงานของระบบเมตาบอไลท์ของร่างกายให้ปกติและมีประสิทธิภาพ มีฤทธิ์ในการนำสมดุลกลับคืนสู่ร่างกาย (balancing) และบำรุงร่างกาย (tonic) นอกจากนี้ยังช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของคนเราโดยลดผลที่เกิดจากการถูกกระตุ้น โดยปัจจัยต่างๆโดยเฉพาะความเครียด การอักเสบ และการเกิดออกซิเดชั่น (oxidation)

พืชสมุนไพรที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในการปรับสมดุลมีหลายชนิดโดยเฉพาะรากของพืชในวงศ์โสม (Araliaceae) ได้แก่ โสมเกาหลี (Panax ginseng) โสมอเมริกัน (Panax quinquefolius) และโสมไซบีเรีย (Acanthopanax senticosus) รวมทั้งพืชสมุนไพรอื่นๆ เช่น ผลมะขามป้อม (Emblica officinalis) ต้นปัญจขันธ์ (Gynostemma pentaphyllum) เห็ดหลินจือ (Ganoderma lucidum) รากชะเอมเทศ (Glycyrrhiza glabra) ผลเก๋ากี้ (Lycium chinensis) และถั่งเช่า (Cordyceps sinensis) เป็นต้น สารสำคัญในพืชที่แสดงฤทธิ์ปรับสมดุลที่มีรายงานนั้นมีหลายกลุ่ม ได้แก่ สารกลุ่มฟีโนลิก (phenolics) เช่น eleutheroside B ในรากของโสมไซบีเรีย และ ellagic acid ในผลมะขามป้อม สารกลุ่มเทอร์พีนอยด์ (terpenoids) เช่น zeaxanthin ในผลเก๋ากี้ และไตรเทอร์พีนอยด์ซาโปนิน (triterpenoid saponin) เช่น ginsenosides ในรากโสมเกาหลีและโสมอเมริกัน และ glycyrrhizin ในรากชะเอมเทศ

การศึกษาสมุนไพรปรับสมดุลของไทยนั้นยังมีไม่มากนัก ฤทธิ์ของสมุนไพรไทยตามตำราการแพทย์แผนไทยที่ใกล้เคียงกับการปรับสมดุลและ ต้านออกซิเดชันได้แก่ ถอนพิษ ฟอกโลหิต รักษาดีซ่าน รักษาโรคตับและบำรุงตับ บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง บำรุงโลหิต ทำให้ธาตุสมบูรณ์ บำรุงความกำหนัด แก้อ่อนเพลีย ทำให้ร่างกายสมบูรณ์ และเป็นยาอายุวัฒนะ

ผักแปม (Acanthopanax trifoliatus) เป็นหนึ่งในพืชสมุนไพรไทยที่อยู่ในวงศ์โสม มีลักษณะเป็นไม้พุ่มสูงประมาณ 1 – 2 เมตร กิ่งก้านอ่อนจะเป็นสีเขียว มีหนามกระจายอยู่ทุกส่วนของลำต้น ก้านใบยาว 5 – 6 เซนติเมตร ใบยาวรี รูปไข่ ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย ปลายใบแหลม แต่ละก้านใบแยกเป็นใบย่อย 5 ใบ ทางภาคเหนือนิยมรับประทานใบอ่อนและยอดเป็นผักสดแกล้มกับลาบ หรือทำเป็นแกงอ่อม มีรสชาติฝาดขมเล็กน้อย ทางการแพทย์พื้นบ้านใช้ใบอ่อนและยอดแก้วัณโรค บำรุงร่างกาย รักษาอาการอ่อนเพลีย รักษาเลือดคั่งในแผลฟกช้ำ รากและเปลือกต้นใช้บำรุงร่างกาย แก้ปวดหลังปวดกระดูก รักษาเบาหวาน รักษาอาการผอมแห้งแรงน้อย

มีรายงานการศึกษาวิจัยเบื้องต้นในหลอดทดลอง (in vitro) พบว่าส่วนต่างๆของผักแปมแสดงฤทธิ์ในการต้านออกซิเดชั่นได้ดี โดยเฉพาะรากและใบอ่อน แสดงฤทธิ์ที่ดีมากในการต้านอนุมูลอิสระ DPPH ยับยั้งการเกิดออกซิเดชั่นของเซลล์สมองหนู และแสดงฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะเซทิลโคลีนเอสเตอเรส (acetylcholine esterase) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเกิดอัลไซเมอร์ นอกจากนี้การศึกษาในสัตว์ทดลอง (in vivo) พบว่า สารสกัดน้ำของใบผักแปม แสดงฤทธิ์ต้านการวิตกกังวล ต้านอักเสบ และแสดงฤทธิ์ในการส่งเสริมความจำและการเรียนรู้ในสัตว์ทดลอง และเมื่อศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลัน (acute toxicity) ในสัตว์ทดลองพบว่าสารสกัดน้ำของใบผักแปมไม่แสดงความเป็นพิษ (LD50 มากกว่า 2 กรัม/กิโลกรัม น้ำหนักตัว)

ในใบผักแปมมีสารกลุ่มฟีโนลิกและฟลาโวนอยด์ในปริมาณสูง เมื่อศึกษาเพิ่มเติมพบว่า สารสำคัญที่แสดงฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นได้แก่ chlorogenic acid, caffeoylquinic acids, rutin, isoqurcetin และ quercitrin ดังนั้น ผักแปม ซึ่งเป็นผักพื้นบ้านของประเทศไทย จึงน่าจะเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพในการที่จะพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการ แพทย์และเภสัชกรรมโดยเฉพาะในด้านการต้านออกซิเดชั่น ส่งเสริมความจำและการเรียนรู้ต่อไป อย่างไรก็ตาม การนำสมุนไพรซึ่งเป็นสารจากธรรมชาติไปประยุกต์ใช้นั้น จำเป็นต้องมีการควบคุมคุณภาพ เริ่มตั้งแต่วัตถุดิบสมุนไพร กระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป โดยเฉพาะการกำหนดมาตรฐาน (standardization) และการทดสอบความเป็นพิษ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้นมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้